ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

“หม้อหุงข้าว”ทำข้าวสารเป็นขนมปัง


        หม้อหุงข้าวรุ่นแรกของโลกที่สามารถเปลี่ยนเม็ดข้าวสารให้กลายเป็นขนมปัง เมื่อ วันพุธ(14) ซันโย อิเล็กทริก บริษัทญี่ปุ่นที่โด่งดังเรื่องการผลิตเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคได้เปิดตัวหม้อหุงข้าวรุ่นแรกของโลกที่สามารถเปลี่ยนเม็ดข้าวสารให้กลายเป็นขนมปังหม้อหุงข้าวรุ่นใหม่เอี่ยมนี้ สามารถโม่เม็ดข้าวสาร 1 ถ้วยให้กลายเป็นแป้งข้าวเจ้า

        จากนั้นก็ผสมแป้งดังกล่าวกับน้ำ, แป้งเปียนกลูเตน, ยีสต์, และส่วนผสมอื่นๆ แล้วมันก็จะสามารถอบให้เป็นขนมปัง 1 แถวขึ้นมาโดยใช้เวลา 4 ชั่วโมง หม้อหุงข้าวรุ่นนี้ทางซันโยตั้งชื่อว่า “โกปัน” (GOPAN) ซึ่งเป็นการผสมคำว่า “โกฮัน” (Gohan) ที่เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่าข้าว กับ “ปัน” (Pan) ภาษาสเปนที่แปลว่าขนมปัง

        ทั้งนี้บริษัทจะเริ่มวางตลาดในญี่ปุ่นในเดือนตุลาคมนี้ และเริ่มส่งออกไปยังประเทศเอเชียอื่นๆ ในปีหน้า สนนราคาขายปลีกที่ตั้งไว้ในญี่ปุ่นคือ ระหว่าง 50,000 - 60,000 เยน (ประมาณ18,300 - 22,000 บาท)
       

ข้อมูลจาก โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 กรกฎาคม 2553 ,
ภาพจาก http://sanyo.com/news/2010/07/13-1.htm

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

ธงชาติไทยเอกลักษณ์ความเป็นชาติ



        ตามหลักฐานต่างๆ ปรากฏว่าตั้งแต่สมัยโบราณนั้น ไทยเรายังไม่มีธงชาติโดยเฉพาะ เมื่อเวลาจัดกองทัพไปทำสงคราม จะใช้ธงสีต่างๆ ประจำทัพเป็นเครื่องหมายทัพละสี ต่อมาเมื่อมีการเดินเรือค้าขายกับต่างประเทศทางตะวันตกในสมัยอยุธยา ได้ใช้ธงสีแดงติดเครื่องหมายว่าเป็นเรือสินค้าของไทย
จดหมายเหตุของชาวต่างประเทศกล่าวว่า ใน รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเรือฝรั่งเศสแล่นเข้ามาสู่ปากน้าเจ้าพระยา เมื่อถึงป้อมของไทย ไทยชักธงชาติฮอลันดาขึ้นรับเรือฝรั่งเศส เพราะไม่มีธงชาติเป็นของตนเอง แต่เรือฝรั่งเศสไม่ยอมสลุต (ยิงปืนสลุต) รับธงฮอลันดาเพราะเคยเป็นคู่อริกันมาก่อน และถือว่าไม่ใช่ธงชาติไทย ฝ่ายไทยจึงแก้ไขโดยนำธงแดงชักขึ้นแทนธงชาติ เรือฝรั่งเศสจึงยอมสลุตคำนับ ตั้งแต่นั้นมาธงสีแดงจึงกลายเป็นธงชาติของไทยเรื่อยมา



        ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังคงใช้ธงสีแดงเกลี้ยงชักเป็นเครื่องหมายประจำเรือค้าขายกับต่างประเทศ อยู่ ธงแดงนี้ใช้ชักขึ้นทั้งในเรือหลวงและเรือราษฎร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระราชดำริว่า เรือหลวงกับเรือราษฎรควรมีเครื่องหมายให้เห็นแตกต่างกัน จึงมีพระบรมราชโองการให้ทำรูปจักรสีขาวติดไว้กลางธงสีแดง เป็นเครื่องหมายใช้เฉพาะเรือหลวง ส่วนเรือค้าขายของราษฎรทั่วไปนั้น ยังคงใช้สีแดงเกลี้ยงอยู่ 



        ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย ได้ช้างเผือกสามเชือก ซึ่งตามประเพณีไทยถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่งจึงมีพระราชโองการให้ทำ รูปช้างเผือกไว้กลางวงจักรในธงเรือหลวงด้วย สมัยนี้ธงเรือสินค้าของราษฎรก็ยังเป็นธงสีแดง
 
        รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำหนังสือสัญญาเปิดการค้าขายกับชาวตะวันตก ใน พ.ศ. ๒๓๙๘ มีเรือสินค้าของประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาเดินทางเข้ามาค้าขายมากขึ้น และมีสถานกงสุลตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ สถานที่เหล่านั้นล้วนชักธงชาติของตนขึ้นเป็นสำคัญ จึงจำเป็นที่ไทยจะต้องมีธงชาติที่แน่นอน 



        พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ธงสีแดงซึ่งเรือสินค้าของไทยใช้อยู่นั้นซ้ำกับประเทศอื่น ยากแก่การสังเกตไม่สมควรใช้อีกต่อไป ควรจะใช้ธงอย่างเรือหลวงเป็นธงชาติ แต่โปรดเกล้าให้เอารูปจักรสีแดงออกเสีย เพราะเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คงไว้แต่เป็นรูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดงเท่านั้น

         ในระหว่างรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงหลายครั้ง คือ

  • พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.๑๑๐
  • พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก ๑๑๖ และ
  • พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก ๑๑๘
ทุกฉบับได้ยืนยันถึงลักษณะของธงชาติว่าเป็น ธงพื้นแดง กลางเป็นรูปช้างเผือกไม่ทรงเครื่อง หันหน้าเข้าเสา ทั้งสิ้น 



        ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ หัว ทรงพระราชดาริว่า เมื่อมองธงชาติซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นแต่ไกล จะมีลักษณะไม่ต่างจากธงราชการเท่าไร และรูปช้างที่อยู่กลางธง ก็ไม่งดงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศแก้ไขเพิ่มเติม
  • พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๙ แก้ไขลักษณะธงชาติเป็น "ธงพื้นแดง กลางเป็นรูปธงช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนแท่น หันหลังเข้าเสา" ประกาศนี้ให้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๙ เป็นต้นไป (ขณะนั้น ยังนับเดือนเมษายนเป็นเดือนเริ่มศักราชใหม่) 


        ใน พ.ศ.๒๔๖๐ ได้มีการแก้ไขลักษณะธงชาติอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากขณะนั้น ประเทศไทยได้ประกาศตนเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อรบกับเยอรมันนี ออสเตรีย และฮังการี ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดาริว่า การประกาศสงครามครั้งนี้ นับเป็นความเจริญก้าวหน้าขั้นหนึ่งของประเทศ สมควรจะมีสิ่งเตือนใจสาหรับวาระนี้ไว้ในภายหน้า สิ่งนั้นควรได้แก่ธงชาติ ทรงเห็นว่าลักษณะที่ได้แก้ไขไปแล้วใน พ.ศ.๒๔๕๙ นั้น ยังไม่สง่างามเพียงพอ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มแถบสีน้าเงินขึ้นอีกสีหนึ่งเป็นสามสี ตามลักษณะธงชาติของนานาประเทศที่ใช้กันอยู่โดยมากในขณะนั้น เพื่อให้เป็นเครื่องหมายว่าประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นน้าหนึ่งใจเดียวกับฝ่าย สัมพันธมิตร เพื่อต่อต้านปราบปรามฝ่ายอธรรม อีกประการหนึ่ง สีน้าเงินก็เป็นสีประจาพระชนมวารเฉพาะของพระองค์ด้วย จึงเป็นสีที่สมควรจะประกอบไว้ในธงชาติไทยด้วยประการทั้งปวง

        การเปลี่ยนธงชาติในครั้งนี้ จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ซึ่งรับราชการใกล้ชิดพระยุคลบาทในขณะนั้น ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลักษณะของธงชาติว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดาริจะเปลี่ยนธงช้างเป็นธงแถบสี เพราะทรงเห็นความลาบากของราษฎรที่ต้องสั่งซื้อธงผ้าพิมพ์รูปช้างมาจากต่าง ประเทศ และบางครั้งเมื่อเกิดความสะเพร่าติดธงผิด รูปช้างกลับเอาขาชี้ขึ้น เป็นที่น่าละอาย หากเปลี่ยนเป็นธงแถบสี ราษฎรก็สามารถทาธงใช้ได้เอง และจะช่วยขจัดปัญหาการติดผิดพลาด ได้ทรงพยายามเลือกสีที่มีความหมายในทางความสามัคคีและมีความสง่างาม 


        ก่อนออกพระราชบัญญัติฉบับใหม่ ได้ทรงทดลองใช้ธงริ้วขาวแดงติดอยู่ที่สนามเสือป่าหลายวัน ภายหลังจึงตกลงพระทัยใช้สีน้าเงินแก่ เพิ่มขึ้นอีกสีหนึ่ง การเพิ่มสีน้าเงินนี้ปรากฏอยู่ในพระราช หัตถเลขาในบันทึกส่วนพระองค์ วันเสาร์ที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๖๐ ว่า ได้ทอดพระเนตรบทความแสดงความเห็นของผู้ใช้นามแฝงว่า "อะแคว์ริส" ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ภาษาอังกฤษ ฉบับวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๐ ได้ทรงแปลข้อความนั้นลงในบันทึกด้วย มีความโดยย่อว่า 

        "เพื่อนชาวต่าง ประเทศของผู้เขียน (อะแคว์ริส) ได้ปรารภถึงธงชาติแบบใหม่ว่า ยังมีลักษณะไม่สง่างามเพียงพอ ผู้เขียนก็มีความเห็นคล้อยตามเช่นนั้น และเสนอแนะด้วยว่า ริ้วตรงกลางควรจะเป็นสีน้าเงินซึ่งเป็นสีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าเปลี่ยนตามนี้แล้ว ธงชาติไทยก็จะประกอบด้วยสีแดง ขาว น้าเงิน มีสีเหมือนกับธงสามสีของฝรั่งเศส ธงยูเนียนแจ็คของอังกฤษ และธงดาวของสหรัฐอเมริกา ประเทศพันธมิตรทั้ง ๓ คงเพิ่มความพอใจในประเทศไทยยิ่งขึ้น เพราะเสมือนยกย่องเขา ทั้งการที่มีสีของพระมหากษัตริย์ในธงชาติ ก็จะเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงพระองค์ในวาระที่ประเทศไทยได้เข้าสู่เหตุ การณ์สาคัญต่างๆ ด้วย... "

        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เมื่อทรงทดลองวาดภาพธงสามสีสงในบันทึก ทรงเห็นว่างดงามดีกว่าริ้วขาวแดงที่ใช้อยู่ ต่อมาเมื่อเจ้าพระยารามราฆพ (ขณะนั้นยังเป็นพระยาประสิทธิศุภการ) ไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นาแบบธงไปถวายเพื่อทูลขอความเห็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก็ทรงเห็นชอบ รับสั่งว่าถ้าเปลี่ยนในขณะนั้นจะได้เป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้ง ที่ ๑ ด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระยาศรีภูริปรีชา ร่างประกาศแก้แบบธงชาติ และได้ทรงนาเรื่องเข้าที่ประชุมคณะเสนาบดีเพื่อฟังความเห็น ที่ประชุมลงมติเห็นชอบธงสามสีตามแบบที่คิดขึ้นใหม่

        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้น เรียกว่า พระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ ออกประกาศเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๐ มีผลบังคับใช้ภายหลังวันออกประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ๓๐ วัน 


        ลักษณะของธงชาติ มีดังนี้คือ เป็นธงรูปสีเหลี่ยมรี ขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน แถบสีน้าเงินแก่กว้าง ๑ ใน ๓ ของความกว้าง อยู่กลางธง มีแถบสีขาวกว้าง ๑ ใน ๖ ของความกว้างของธงข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่ากับแถบสีขาว ประกอบข้างนอกอีกข้างละแถบ และพระราชทานนามว่า "ธงไตรรงค์" ส่วนธงรูปช้างกลางธงพื้นแดงของเดิมนั้น ให้ยกเลิก
ความหมายของสีธงไตรรงค์ คือ
  • สีแดง หมายถึง ชาติและความสามัคคีของคนในชาติ
  • สีขาว หมายถึง ศาสนาซึ่งเป็นเครื่องอบรมสั่งสอนจิตใจให้บริสุทธิ์
  • สีน้าเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศ
        พ.ศ.๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดาริว่า ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบธงชาติมาหลายครั้ง คือ จากธงพื้นแดงเกลี้ยง มาเป็นธงแดงมีช้างเผือกไม่ทรงเครื่องอยู่กลาง ธงพื้นแดงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น และธงไตรรงค์ แม้ว่าธงไตรรงค์จะให้ความสะดวกในการใช้และการสร้างขึ้นใช้ แต่ธงไตรรงค์ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของต่างประเทศโดยทั่วไปอย่างแพร่หลายว่า เป็นธงชาติไทยเช่นธงช้าง 

        นอกจากนี้ธงไตรรงค์ยังมีสีคล้ายกับสีธง ชาติของบางประเทศและคล้ายกับสีของธงบริษัทต่างประเทศบางแห่ง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย ผิดกับธงช้างซึ่งไม่ซ้ากับธงชาติใดเลย เพื่อไม่ให้ต้องเปลี่ยนธงชาติบ่อยๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขาธิการบันทึกพระราชกระแสพระราชทานไปยังองคมนตรี ด้วยมีพระราชประสงค์จะทรงฟังความคิดเห็นส่วนมากประกอบพระราชวินิจฉัย บันทึกฉบับนี้ลงวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๐ กาหนดให้องคมนตรีทั้งหลายทูลเกล้าฯ ถวายความคิดเห็นภายใน ๑๕ วัน นับแต่ได้รับบันทึก มีข้อควรพิจารณาดังนี้
  • เลิกใช้ธงไตรรงค์แล้วใช้ธงช้างแทน
  • ใช้ธงช้างเป็นธงราชการ ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติ
  • ใช้ธงช้างเป็นธงราชการและธงชาติ ใช้ธงไตรรงค์เป็นสีสาหรับประเทศ คือ ใช้ตกแต่งสถานที่ในงานรื่นเริง เป็นต้น
  • ใช้ธงไตรรงค์ผสมกับธงช้างพื้นแดงเป็นธงเดียวกัน
  • คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติตามเดิมดังที่เป็นอยู่ขณะนั้น
       เมื่อองคมนตรีได้ทาหนังสือแสดงความคิดเห็น ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ปรากฏว่าความเห็นทั้งหมดแตกต่างกันไปและไม่ได้ชี้ขาดลงไป ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป ตามพระราชวินิจฉัย ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๐
ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอา นันทมหิดล ได้ตราพระราชบัญญัติธงเป็นฉบับแรกในรัชกาล เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ ในส่วนที่ว่าด้วยธงชาตินั้นยังคงใช้ธงไตรรงค์ แต่ได้อธิบายลักษณะให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น คือ

       ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง ๖ ส่วน ยาว ๙ ส่วน ด้านกว้าง ๒ ใน ๖ ส่วน ตรงกลางเป็นสีขาบ (น้าเงินเข้ม) ต่อจากแถบสีขาบออกไปทั้งสองข้าง ข้างละ ๑ ใน ๖ ส่วนเป็นแถบสีขาว ต่อสีขาวออกไปทั้ง ๒ ข้าง เป็นแถบสีแดง พระราชบัญญัติธงฉบับต่างๆ ที่ออกในสมัยต่อมา ไม่มีข้อความเปลี่ยนแปลงลักษณะของธงชาติอีก ธงไตรรงค์ จึงเป็นธงชาติไทยสืบมาจนปัจจุบัน
อ้างอิง :
  • ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๒๐.
  • อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช), จมื่น พระราชกรณียกิจสาคัญในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว เล่ม ๖ องค์การค้าคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, ๒๕๑๒ เรื่อง "เหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนธงชาติ".
  • พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.จ.ชัชชวลิต เกษมสันต์ วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๑๗ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย
ขอบคุณบทความโดย  :: ครูมนตรี  โคตรคันทา / http://www.krumontree.com

ทำไมคำว่า"ไทย" ต้องมี "ย" ยักษ์


         คำว่า ไทย ซึ่งเขียนโดยมีอักษร ย ยักษ์ สะกด หรือเคียงอยู่กับ ท ทหาร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนิยามว่า ไทย 1 (ไท) น. ชื่อประเทศและชนชาติที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนติดต่อกับลาว เขมร มาเลเซีย และพม่า
       ทั้งนี้ หนังสือตำราหรือหนังสือประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นชื่อประเทศหรือชนชาติ ส่วนใหญ่เขียนว่า ไท ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องเขียนให้มีตัว ย ในสมัยหลัง 

       มีผู้วินิจฉัยไว้ดังมีสาระสำคัญใน หนังสือ บันทึกสมาคมวรรณคดี ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 มิถุนายน 2475 คำว่า ไท กล่าวกันว่า เนื่องมาจากคำจีนคือ ไท ไถ่ ไท้ ประเด็นสำคัญของปัญหาก็คือเมื่อกล่าวกันว่าเนื่องมาจากคำจีน 3 คำนั้น ไม่มีตัว ย แล้วเหตุใดจึงมาเขียนให้มีตัว ย 
ข้อนี้มีผู้เสนอข้อวินิจฉัย 2 ท่าน ดังนี้ 


1. พระเจนจีนอักษร (สุตใจ ตัณฑากาศ) วินิจฉัยว่า 

ก.) คำว่า ไต คงจะเล็งเอาอักษรจีนที่ภาษาแต้จิ๋วอ่านว่า ไต๋ ฮกเกี้ยนอ่านว่า ไต กวางตุ้ง ปักกิ่ง กลาง อ่านว่า ตา หรือ ต๋า ในหนังสือฆังฮียี่เตี้ยน แปลว่า แรกเริ่ม ใหญ่ มหึมา 


ข.)
คำว่า ไถ่ คงจะเล็งเอาอักษรจีน ซึ่งภาษาจีนทุกภาษาอ่านว่า ไถ่ ในหนังสือฆังฮียี่เตี้ยนแปลว่า ใหญ่ที่สุด  


       หาก ไท เนื่องมาจากภาษาจีนแล้ว ผู้บัญญัติท่านคงเล็งเอาคำว่า ไถ่ เพราะแปลว่าใหญ่ที่สุด และยังเป็นนามสกุลคนโบราณด้วย ครั้นสืบมาหลายชั่วคน คำว่า ไถ่ ก็แผลงเป็น ไท ส่วนคำว่า ไท้ เป็นภาษาไทย แปลว่าผู้เป็นใหญ่ คงแผลงจากคำว่า ไถ่ หรือ ไท  

       สำหรับ เหตุผลที่เขียนว่า ไทย (มีตัว ย) หนังสือมูลบทบรรพกิจ ฉบับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) กล่าวว่า คำไม้มลายเป็น 2 อย่าง คำไม้มลายที่มี ตัว ย สะกด คำนั้นเป็นภาษามคธอย่าง หนึ่ง คำที่มีแต่ไม้มลายล้วนด้วยเป็นคำไทยอย่างหนึ่ง 


การเขียนว่า ไท แล้วเอาตัว ย สะกด ก็ยังอ่านว่าไทย หรือผู้มีอำนาจแผนกอักษรศาสตร์สมัยต่อมา เห็นว่าภาษามคธเป็นภาษาบาลีอันขลัง จึงใช้ ตัว ย สะกดคำว่า ไท ให้เขียนว่า ไทย


2. พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) วินิจฉัยว่า ตรวจดูภาษาไทยในจารึกสุโขทัยก่อนหลักที่ 3 มีคำว่า ไท ใช้โดยมีตัว ย แถมก็มี ไม่มีตัว ย แถมก็มี ได้แต่สันนิษฐานโดยประมวลความในจารึก  


       คือสันนิษฐานว่าตัว เกิดเมื่อจารึกเป็นภาษามคธ (หลักที่ 6) มีคำว่า ลีเทยฺยนามโก ธมฺมราชา เมื่อเรียงพระนามพระเจ้าแผ่นดินลงเป็นภาษามคธมี ตัว ย แล้ว ภาษาไทยก็เลยใส่ตัว ย ลงไปด้วย เพื่อให้พระนามขึ้นสู่ภาษาอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งนับถือกันอยู่มาก
แต่คำว่า ไท ที่มิไช่นามพระเจ้าแผ่นดินยังปล่อยให้ล้นอยู่ก่อน เห็นจะมาเริ่มใส่ตัว ย เติมภายหลังแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมา 

       ส่วนคำว่า ไท้ คือ ไท แต่ทำไม ไท้ จึงไม่ถูกเติมตัว ย ข้อนี้ก็ต้องตอบโดยหลักว่าภาษามคธไม่มีไม้ไท และความรู้สึกในเวลานี้ดูเหมือนจะแปลกันว่าคำแทนพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ใช้ในทางแทนเทวดาก็มี  

       ถ้ายกให้ว่าเป็นคำจีนดังที่พระเจน จีนอักษรได้แปลแล้ว ปัญหาเรื่องแปลว่ากระไรก็ไม่มีในคำนี้ สรุปได้ว่าเราใช้คำว่า ไทย (ท ทหาร-สระไอไม้มลาย-ย ยักษ์) สำหรับเรียกประเทศ คน สังคม วัฒนธรรม ภาษา และสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรไทย หรือเรียกทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในผืนแผ่นดินที่มีชื่อเป็นทางการว่า ประเทศไทย คำว่า ไทย เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า THAI (T-H-A-I)

ที่มา : เอกสารสดุดีบุคคลสำคัญ สำนักงานคณะกรรมการเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ
         โดย อ.ประพัฒน์ ตรีณรงค์

ยาสีฟันทำมาจากอะไร?



        แต่เดิม ก่อนที่จะมีการใช้แปรงสีฟันกันอย่างแพร่หลายเหมือนทุกวันนี้  คนไทยสมัยก่อนใช้กิ่งข่อยทุบพอเป็นฝอยสำหรับถูฟัน  ซึ่งนอกจากจะช่วยขูดสิ่งสะสมตกค้างที่มีมาจากเมื่อวันก่อนแล้ว  กิ่งข่อยยังมีคุณสมบัติช่วยรักษาฟันอีกด้วย

        หากจะสืบสาวประวัติของแปรงสีฟันก็ได้ว่า  จีนเป็นประเทศแรกที่ประดิษฐ์แปรงสีฟันชนิดที่มีขนและด้ามถือเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๓๓ หากเทียบกับยุคสมัยของไทยก็อยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  หลังรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไม่นานนัก

        ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๖  คุณหลวงแจ่มวิชาสอน  อดีตอาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (เดี๋ยวนี้เป็นวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) ได้เป็นผู้ผลิตยาสีฟันชนิดผงขึ้นเป็นครั้งแรก ให้ชื่อว่า ยาสีฟันวิเศษนิยม

        กระทรวงอุตสาหกรรมได้ แบ่งยาสีฟันออกเป็นสองชนิดตามลักษณะแนบแน่น (CONSISTENCY) ของยาสีฟัน  คือ
        ๑.  ยาสีฟันชนิดผง (TOOTH  POWDER) แบ่งออกเป็นอีกสองลักษณะ คือ ใช้สมุนไพรล้วน  และประเภทสมุนไพรผสมสารเคมี  มีส่วนประกอบหลักดังนี้  ข่อย  ลิ้นทะเล  เกลือ  กานพลู  สารส้ม  การบูร  แคลเซียมคาร์บอเนต กรีเซอลีน  หัวน้ำหอม

       ๒.  ยาสีฟันชนิดเหลวข้น  (TOOTH PASTE) ยาสีฟันชนิดนี้เป็นสูตรที่นำมาจากต่างประเทศ  แต่ผลิตที่ประเทศไทย  ประกอบด้วยสารหลายชนิดเพื่อปรับปรุงแต่งสีและกลิ่น  เช่น  ตัวยาผงขัด  (ABRASIVE) สารกันความชื้น (HUMECTANT) น้ำ สารช่วยยึด (BINDER) สารทำให้เกิดฟอง  (DETERGENT)  ยากันบูด (PRESERVATIVE)  และยาบำบัดรักษาสำหรับกระบวนการผลิตยาสีฟันนั้น  เริ่มจากนำวัตถุดิบนานาชนิดมาผสมลงในเครื่องผสมขนาดเล็กเพื่อทำให้เป็นผงและ เข้ากันได้สนิท  แล้วจึงนำวัตถุดิบชนิดเหลวมาผสม  จากนั้นจึงกวนให้เข้ากันแล้วผ่านมาสู่เครื่องผสมขนาดใหญ่ซึ่งจะกวนให้สาร ทั้งหมดรวมตัวแนบแน่นโดยใช้ความร้อนสูง  ๗๐-๘๐  องศาเซลเซียส  จนตัวยามีลักษณะข้นเหนียว  ต่อจากนั้นนำตัวยาไปตรวจคุณภาพมาตรฐานเป็นครั้งแรก

        ต่อมาในบางบริษัทอาจเติมวัตถุดิบบางชนิดก่อนที่จะนำตัวยาไปเข้าเครื่องผสม ระบบสุญญากาศ  โดยที่เครื่องจะกวนในอุณหภูมิ  ๓๐-๖๐  องศาเซลเซียสประมาณหนึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง  หลังจากนั้นจะมีการดูดอากาศออกจนเป็นสูญญากาศ แล้วจึงหล่อด้วยน้ำเย็นเพื่อให้คลายความร้อน เมื่อเย็นดีแล้วจะต้องนำตัวยาไปตรวจคุณภาพอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าตัวยาจะผสมเป็นเนื้อเดียวกัน สม่ำเสมอ ไม่บูดแล้วจึงนำไปอบที่อุณหภูมิ ๔๕ องศาเซลเซียสเป็นเวลา  ๗๒  ชั่วโมง  จากนั้นนำตัวยาเข้าสู่ถังเก็บยาสีฟัน  กรอง  แล้วจึงนำสู่เครื่องบรรจุหลอดอัตโนมัติเพื่อนำออกจำหน่ายต่อไป

“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี” 

โลโก้กูเกิล "สุพรรณหงส์"


โลโก้กูเกิล "สุพรรณหงส์" แสดงในเว็บไซต์กูเกิล "วันแม่" 12 สิงหาคม 2553

        Google ได้เริ่มจัดการประกวด Doodle 4 Google ครั้งแรกในเมืองไทยเมื่อเดือนมราคม 2553 โดยการจัดประกวดนี้ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนชาวไทยทั่วประเทศร่วมแสดงจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ภายใต้หัวข้อ "เมืองไทยของฉัน"

        ภาพที่ส่งเข้าประกวดนั้นมีมากถึง 46,000 ดูเดิล จากกว่า 11,000 โรงเรียนทั่วประเทศ รวมไปถึงความสามารถทางด้านศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์ของเด็กไทย

        คณะกรรมการได้ใช้เวลาอยู่หลายวันในการพิจารณาคัดเลือกให้เหลือผู้เข้ารอบ 40 คนสุดท้ายใน 4 กลุ่มอายุ หลังจากนั้นเราได้เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วประเทศร่วมโหวตภาพดูเดิลที่ชื่นชอบที่สุดในแต่ละกลุ่ม และสุดท้าย ไมเคิล โลเปซ ดูเดิลอาวุโสของกูเกิล ได้ตัดสินคัดเลือกผู้ชนะเลิศระดับประเทศจากผู้ที่ได้คะแนนโหวตสูงสุดในแต่ละกลุ่มอายุ

        โดยผู้ชนะเลิศระดับประเทศ จะมีดูเดิลที่เป็นผลงานตนเอง ไปปรากฏบนหน้าเว็บกูเกิลประเทศไทย เป็นเวลา 24 ชม. เพื่อให้ผู้ใช้กูเกิลในไทยหลายล้านคนได้ร่วมชื่นชม ในวันที่ 12 สิงหาคม 2553 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ หรือวันแม่แห่งชาติ รวมถึงทริปไปทัศนศึกษาพร้อมกับผู้ปกครองและครูที่ปรึกษาที่ Google สำนักงานใหญ่ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับได้พบปะทีมดูเดิลของกูเกิลแบบใกล้ชิด

        "เมืองไทยของฉัน เป็นการนำเอาภาพเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ อันเป็นเรือพระที่นั่งสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ในพระราชพิธีต่างๆ ทางน้ำ ถือเป็นคุณค่าที่อยู่คู่ไทยมาอย่างยาวนาน สายน้ำที่มีเงาสะท้อนจากเรือ และตัว Google นั้น เป็นการแสดงถึงสายวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน ที่สะท้อนให้เห็นคุณค่าของเรือทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เกี่ยวพันโยงใยไปกับอักษร Google ที่ใช้สีทองสีเดียว อันเป็นสีของความเจริญรุ่งเรือง และร่วมกันส่งต่อคุณค่าทั้งหมดแก่สายตาชาวโลก"

ด.ช. เทิดธันวา คะนะมะ โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
ที่มา http://www.google.co.th/doodle4google/

วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

การประดิษฐ์บาร์โค้ด


        รหัสแท่ง ๆ เป็นลายเส้นตรง ๆ มีตัวเลขกำกับอยู่ด้านล่าง ที่มักปรากฎบนปกหนังสือ หรือสินค้าแทบทุกชนิดบนโลกใบนี้ หรือที่เรียกกันว่า "บาร์โค้ด" (barcode) ซึ่งเจ้าสัญลักษณ์คุ้นตาที่ช่วยอำนวยความสะดวกได้อย่างน่ามหัศจรรย์นี้ ได้มีการออกสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม (พ.ศ.2495) หรือวันนี้ เมื่อ 57 ปีก่อน ดังนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาเพื่อน ๆ ย้อนอดีตไปรู้จักกับ การประดิษฐ์บาร์โค้ด รหัสแท่งมหัศจรรย์ กันค่ะ

บาร์โค้ด คืออะไร
        บาร์โค้ด (barcode) หรือในภาษาไทยเรียกว่า "รหัสแท่ง" คือ การแทนข้อมูลที่เป็นรหัสเลขฐานสอง (Binary codes) ในรูปแบบของแถบสีดำและขาวที่มีความกว้างของแถบที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับตัวเลขที่กำกับอยู่ข้างล่าง การอ่านข้อมูลจะอาศัยหลักการสะท้อนแสง เพื่ออ่านข้อมูลเข้าเก็บในคอมพิวเตอร์โดยตรงไม่ต้องผ่านการกดปุ่มที่แป้นพิมพ์ ระบบนี้เป็นมาตรฐานสากลที่นิยมใช้กันทั่วโลก การนำเข้าข้อมูลจากรหัสแถบของสินค้าเป็นวิธีที่รวดเร็วและความน่าเชื่อถือได้สูงและให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้งานได้ดี

        ทั้งนี้ เทคโนโลยี บาร์โค้ด ถูกนำมาใช้ทดแทนในส่วนการบันทึกข้อมูล (Data Entry) ด้วยคีย์บอร์ด ซึ่งมีอัตราความผิดพลาดอยู่ประมาณ 1 ใน 100 หรือบันทึกข้อมูลผิดพลาดได้ 1 ตัวอักษร ในทุก ๆ 100 ตัวอักษร แต่สำหรับระบบบาร์โค้ด อัตราการเกิดความผิดพลาดจะลดลงเหลือเพียง 1 ใน 10,000,000 ตัวอักษรเลยทีเดียว นี่จึงเป็นเหตุผลที่นิยมนำมาใช้กันแพร่หลายทั่วโลก

        สำหรับระบบบาร์โค้ด จะใช้ควบคู่กับเครื่องอ่าน ที่เรียกว่า เครื่องยิงบาร์โค้ด (Scanner ) ซึ่งเป็นเป็นตัวอ่านข้อมูล ที่อยู่ในรูปรหัสแท่ง เป็นข้อมูลตัวเลข หรือตัวอักษร ทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งาน

ประวัติ การประดิษฐ์บาร์โค้ด
         บาร์โค้ด (barcode) ถูกประดิษฐ์ขึ้นจากฝีมือการคิดประดิษฐ์ของ Norman Joseph Woodland และ Bernard Silver สองศิษย์เก่าของ Drexel Institute of Technology ในเมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา โดยจุดประกายของ การประดิษฐ์บาร์โค้ด เริ่มต้นจาก Wallace Flint จาก Harvard Business School ในปี ค.ศ.1932 ซึ่งเขาได้เสนอการเลือกสินค้าที่ต้องการจากรายการ โดยใช้บัตรเจาะรู เพื่อแบ่งหมวดหมู่เดียวกัน แต่ความคิดดังกล่าวนั้นก็ไม่ได้ถูกสานต่อ

        จนกระทั่ง Bernard Silver ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนักศึกษาอยู่ เกิดบังเอิญไปได้ยินประธานบริษัทค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภครายหนึ่งในเมืองฟิลาเดลเฟีย ปรึกษากับคณบดี ว่า ทางมหาวิทยาลัยน่าจะส่งเสริมให้มีการทดลองเกี่ยวกับระบบจัดเก็บและอ่านข้อมูลสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจค้าปลีกในการทำสต็อก และด้วยความที่ Bernard ไม่ได้ฟังแบบเข้าหูขวาทะลุหูซ้าย เขาจึงนำสิ่งที่ได้ยินกลับมาครุ่นคิด และชักชวนให้ศิษย์ผู้พี่ Norman Joseph Woodland มาร่วมกันทำฝันให้เป็นจริง

        และในปี ค.ศ.1952 ทั้งคู่ก็ให้กำเนิด บาร์โค้ด หลังพยายามทดลอง ประดิษฐ์บาร์โค้ด อยู่นานหลายปี และได้มีการออกสิทธิบัตร บาร์โค้ด ขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม ปีเดียวกันนั้นเอง โดยบาร์โค้ดชนิดแรกที่ทั้งสองผลิตขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นลายเส้นอย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน หากแต่มีลักษณะคล้าย แผ่นปาเป้า ที่ประกอบด้วยวงกลมสีขาวซ้อนกันหลายๆ วง บนพื้นหลังสีเข้ม ทว่า ผลงานครั้งนั้นก็ยังไม่ถูกใจทั้งสองเท่าที่ควร

        แต่กระนั้น ร้านค้าปลีกในเครือ Kroger ที่เมืองซินซินนาติ มลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้นำเอาระบบบาร์โค้ดแบบแผ่นปาเป้า ไปใช้เป็นแห่งแรกของโลก ในปี ค.ศ.1967

       ต่อมาได้มีการพัฒนา บาร์โค้ด และประดิษฐ์ เครื่องแสกน บาร์โค้ด ขึ้น และใช้งานเป็นครั้งแรกในโลกที่ Marsh’s ซูเปอร์มาร์เก็ต ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1974 และ ในวันที่ 26 เดือนนั้น หมากฝรั่ง Wrigley's Juicy Fruit ก็กลายเป็นสินค้าชิ้นแรกในโลกที่ถูกสแกน บาร์โค้ด เพราะมันเป็นสินค้าชิ้นแรกที่ถูกหยิบขึ้นจากรถเข็นของลูกค้าคนแรกของร้านในวันนั้น
วิวัฒนาการ บาร์โค้ด
        แต่เดิมนั้น บาร์โค้ด จะถูกนำมาใช้ในร้านขายของชำและตามปกหนังสือ ต่อก็เริ่มมาพบในร้านอุปกรณ์ประกอบรถยนต์และร้านอุปโภคบริโภคทั่วไป ในแถบยุโรป รถบรรทุกทุกคัน ที่จะต้องวิ่งระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศเยอรมนี จะต้องใช้แถบรหัสบาร์โค้ดที่หน้าต่างทุกคัน เพื่อใช้ในการแสดงใบขับขี่ ใบอนุญาต และน้ำหนักรถบรรทุก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถตรวจได้ง่ายและรวดเร็ว ในขณะที่รถลดความเร็ว เครื่องตรวจจะอ่านข้อมูลจากบาร์โค้ด และแสดงข้อมูลบนเครื่องคอมพิวเตอร์ทันที

        ปัจจุบันวิวัฒนาการของบาร์โค้ด พัฒนาไปมาก ทั้งรูปแบบและความสามารถในการเก็บข้อมูล โดยบาร์โค้ดที่ใช้ในยุคสมัยนี้มีทั้งแบบ 1 มิติ 2 มิติ และ 3 มิติ แต่ที่เราใช้กันทั่วไปในสินค้านั้นเป็นแบบมิติเดียว บันทึกข้อมูลได้จำกัด ตามขนาดและความยาว โดยบาร์โค้ด 2 มิติ จะสามารถบันทึกข้อมูลได้มากกว่าแบบอื่น ๆ มาก และขนาดเล็กกว่า รวมทั้งสามารถพลิกแพลงการใช้งานได้มากกว่า ขนาดที่ว่าสามารถซ่อนไฟล์ใหญ่ ๆ ทั้งไฟล์ลงบนรูปภาพได้เลยทีเดียว

        อย่างไรก็ตาม บาร์โค้ด 2 มิติ ก็ยังไม่เสถียรพอ ทำให้การนำมาใช้งานหลากหลายเกินไป จนอาจเกิดปัญหาการใช้งานร่วมกันและต้องใช้เครื่องมือเฉพาะของมาตรฐานนั้น ๆ ในการอ่าน ซึ่งในปัจจุบันมีความพยายามที่จะกำหนดมาตรฐานของบาร์โค้ด 2 มิติ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็คโทรนิคส์ และ อุตสาหกรรมยา/เครื่องมือแพทย์ ที่มีความต้องการใช้งานบาร์โค้ดที่เล็กแต่บรรจุข้อมูลได้มาก จนได้บาร์โค้ดลูกผสมระหว่าง 1 มิติกับ 2 มิติขึ้นมา ในชื่อเดิมคือ RSS Reduce Space Symbol หรือชื่อใหม่คือ GS1 DataBar

        สำหรับประเทศไทย เคยมีการทดลองใช้บาร์โค้ด 2 มิติในเชิงพาณิชย์ โดยค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ แต่ก็เงียบหายไป เนื่องจากขาดการสร้างความเข้าใจให้กับฐานลูกค้าที่ชัดเจน

        ส่วนบาร์โค้ด 3 มิติ คือความพยายามที่จะแก้ข้อจำกัดของบาร์โค้ด ที่มีปัญหาในสภาวะแวดล้อมที่โหด ๆ เช่น ร้อนจัด หนาวจัด หรือมีความเปรอะเปื้อนสูง เช่น มีการพ่นสี พ่นฝุ่นตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่จะพบการใช้ บาร์โค้ด 3 มิติ ในอุตสาหกรรมหนัก ๆ เช่น เครื่องจักร เครื่องยนต์ โดยจะยิงเลเซอร์ลงบนโลหะ เพื่อให้เป็นบาร์โค้ด หรือจัดทำให้พื้นผิวส่วนหนึ่งนูนขึ้นมาเป็นรูปบาร์โค้ด (Emboss) นั่นเอง

ประเภทของ บาร์โค้ด
1. โค้ดภายใน (Internal Code) เป็นบาร์โค้ดที่ทำขึ้นใช้เองในองค์กรต่าง ๆ ไม่สามารถนำออกไปใช้ภายนอกได้
2. โค้ดมาตรฐานสากล (Standard Code) เป็นบาร์โค้ดที่เป็นที่รู้จัก และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก มี 2 ระบบ คือ
• ระบบ EAN (European Article Numbering) เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2519 มีประเทศต่าง ๆ ใช้มากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก ในภาคพื้นยุโรป เอเชีย และแปซิฟิก, ออสเตรเลีย, ลาติน อเมริกา รวมทั้งประเทศไทย ทั้งนี้ EAN มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม
• ระบบ UPC (Universal Product Code) เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2515 ซึ่งกำหนดมาตรฐานโดย Uniform Code Council.Inc ใช้แพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา และ แคนาดา
        สำหรับบาร์โค้ดในประเทศไทยเริ่มนำมาใช้อย่างจริงจัง โดยมีสถาบันสัญลักษณ์รหัสแท่งไทย (Thai Article Numbering Council) หรือ TANC เป็นองค์กรตัวแทน EAN ภายใต้การดูแลของสภาอุตสาหกรรมกรรมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ระบบ EAN ที่ประเทศไทยใช้นั้นจะมีลักษณะเป็นเลขชุด 13 หลัก ซึ่งมีความหมายดังนี้


885 : ตัวเลข 3 หลักแรก คือรหัสของประเทศไทย
xxxx : ตัวเลข 4 ตัวถัดมา เป็นรหัสโรงงานที่ผลิต หรือรหัสสมาชิก
xxxxx : 5 ตัวถัดมา เป็นรหัสสินค้า
x : ตัวเลขหลักสุดท้ายเป็นตัวเลขตรวจสอบ เลข 12 ข้างหน้าว่ากำหนดถูกต้องหรือไม่ ถ้าตัวสุดท้ายผิด บาร์โค้ดตัวนั้นจะอ่านไม่ออก สื่อความหมายไม่ได้
        และนี่เป็นเรื่องราวคร่าว ๆ ของ บาร์โค้ด ประวัติ การประดิษฐ์บาร์โค้ด ที่นำมาฝากกัน เนื่องในวันครบรอบ 57 ปี บาร์โค้ด


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- marketeer.co.th

- deelike.com

- sncoding.com

- ismed.or.th
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก en.wikipedia.org

ทำไมถึงเรียก ผีเสื้อ

 


        มีคนเคยสันนิษฐานคำว่าพระเสื้อเมืองทรงเมือง ว่า "เสื้อ" คำนี้คงจะเป็น "เชื้อ" คือเชื้อสาย พระเสื้อเมืองก็คือพระเชื้อเมือง โดยหมายถึงว่าเป็นผีเชื้อสายหรือเทวดาที่คุ้มครองรักษาเมืองตามลัทธิของไทยโบราณที่นับถือผีบรรพบุรษปู่ย่าตายาย

        สำเนียงไทยทางเหนือบางเหล่าพูดเพี้ยนแปร่งออกเสียงเชื้อเป็นเซื่อหรือเสื้อ พระเชื้อเมืองจึงกลายเป็นเพระเสื้อเมือง เมื่อเขียนแล้วผู้เขียนได้พบท่านเจ้าคุณอนุมานราชธนท่านบอกว่าชอบกล ทำให้ท่านนึกถึงแมลงผีเสื้ออีกอย่างหนึ่งไทยทางเหนือเขาก็ถือกันว่าเป็นผี เพราะถ้าบินมามากๆแล้วทำให้เกิดความเจ็บไข้ตายกันได้

        จากปากคำของท่านเสฐียรโกเศศอันเป็นที่เคารพนับถึอ ประกอบกับการได้อ่านพบอะไรมาบางอย่าง จึงทำให้สันนิษฐานว่าผีเสื้อนี้คงจะเป็นผีเชื้ออีกเหมือนกัน

        ที่ผู้เขียนได้อ่านพบก็คือในพวกพม่าไทยใหญ่เขาถือกันว่าวิญญาณของคนเหมือนผีเสื้อโบยบินท่องเที่ยวไป ผีเสื้อจึงน่าจะตรงกับผีเชื้อ คือ ผีเชื้อสายปู่ย่าตายาย ตามที่กล่าวมานี้

        จึงสันนิษฐานว่า ตัวแมลงที่เราเรียกกันว่าผีเสื้อนี้คงจะมีมูลมาจากไทยเดิมถือกันว่าเป็นวิญญาณของผีเชื้อสาย จึงได้เรียกกันว่าผีเชื้อ แต่หากสำเนียงต่างกัน ผีเชื้อจึงกลายเป็นผีเซื่อ (ถ้าให้ไทยทางเหนือและอีสานเรียกผีเสื้อเราจะฟังออกเสียงเป็นเซื่อชัดๆ) ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นผีเสื้อทำนองเดียวกับพระเชื้อเมืองเป็นพระเสื้อเมืองนั่นเอง


ข้อมูลจาก 108 ซองคำถาม

ที่มาจาก http://variety.teenee.com/foodforbrain/22735.html

ตำนานคิวปิด (กามเทพ)


        คนทั่วไปรู้จัก คิวปิด ในภาพของเด็กน่ารักที่มีปีก มือถือคันธนูกับลูกศรและมีชื่อเสียงในเรื่องการยิงศรรักปักหัวใจของใครต่อใคร ศรรักของ คิวปิด หมายถึงความปรารถนาและอารมณ์แห่งความรัก คิวปิด จะเล็งลูกศรไปที่พระเจ้าและมนุษย์เพื่อทำให้พระเจ้ากับมนุษย์รักกัน

        คิวปิดมักจะมีบทบาทในการเฉลิมฉลองความรัก ในกรีกโบราณ คิวปิด เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า เอโรส ลูกชาย แอฟโพไดท์ เทพธิดาแห่งความรักและความสวยงามแต่สำหรับพวกโรมัน เขาคือ คิวปิด และแม่ของเขาคือ วีนัส

        มีเรื่องน่าสนใจพอสมควรเกี่ยวกับ คิวปิด และ ไซคี เจ้าสาวของเขาในเทพนิยายโรมัน เธอเป็นเทพธิดารูปงามในนิยายกรีกโบราณมีปีกเป็นผีเสื้อ และเพราะความงามนี้เองที่ทำให้ วีนัส อิจฉา นางจึงได้สั่ง คิวปิด ให้ลงโทษว่าที่ลูกสะใภ้เสีย แต่ คิวปิด ตกหลุมรักเธอเกินกว่าที่จะทำตามความต้องการของแม่ ดังนั้น แทนที่จะลงโทษเธอ คิวปิด กลับเอาเธอเป็นภรรยาเสียเลย แต่เนื่องจาก ไซคี มิได้เป็นอมตะ เธอจึงถูกห้ามมิให้มองเขา

        หลังจากตกเป็นภรรยาของ คิวปิด แล้ว ไซคี ก็มีความสุขเรื่อยมา จนกระทั่งพี่สาวของเธอได้รบเร้าให้เธอมอง คิวปิด ทันทีที่เธอมอง คิวปิด คิวปิด ก็ลงโทษเธอด้วยการทิ้งเธอไปทันที พร้อมกันนั้นปราสาทและสวนอันสวยงามของเธอก็ต้องมลายหายไปด้วย หลังจากนั้นไซคี ก็พบว่าตัวเองอยู่ตามลำพังในทุ่งโล่งแห่งหนึ่งซึ่งไม่มีร่องรอยของสิ่งมีชีวิตอื่นๆหรือ คิวปิด ปรากฏให้เห็นเลย

        ในขณะที่เธอออกเดินทางค้นหาคนรักของเธอนั้น เธอก็มาถึงวิหารของ วีนัส โดยบังเอิญ เมื่อ วีนัส เทพธิดาแห่งความรักพบว่า ไซคี ยังมีชีวิตอยู่ เธอก็ปราถนาที่จะ ทำลาย ไซคี กลั่นแกล้งให้กระทำสิ่งที่ลำบากยากเย็นหลายอย่าง และสุดท้าย เธอได้รับกล่องใบหนึ่งมาและได้ถูกสั่งให้ลงไปยังใต้โลกเพื่อเอา ความงามของ โพรเซอร์พีน ภรรยาของ พลูโต ใส่กล่องใบนี้มา ในระหว่างที่เธอเดินทางอยู่นั้น เธอก็ได้รับคำแนะนำให้รู้จักการหลีกเลี่ยงอันตรายจากอาณาจักรแห่งความตาย นอกจากนั้นแล้ว เธอยังได้ถูกเตือนมิให้เปิดกล่องใบนั้นอีกด้วย แต่เพราะทนไม่ไหวหรือเพราะความอยากรู้อยากเห็นหรืออะไรก็ไม่ทราบ เธอได้เปิดกล่องใบนั้น แต่แทนที่จะพบกับความงาม เธอกลับต้องหลับเป็นตาย

        ต่อมา คิวปิด ได้มาพบร่างอันไร้ชีวิตของเธอบนพื้นดิน เขาจึงได้นำเอาอาการหลับเป็นตายออกจากร่างของเธอและนำมันไปเก็บไว้ในกล่อง เทพเจ้ายูปีเตอร์จึงได้ช่วยบันดาลให้นางไซคีเป็นอมตะและได้อภิเษกกับคิวปิด

        ชาวโรมันมักทำรูปปั้นคิวปิดเป็นรูปเด็กชายเล็ก ๆ เปลือยและมีปีก ใบหน้ายิ้มและมีลักยิ้ม ท่าทางเป็นเด็กซน มือถือคันธนูและมีกระบอกใส่ลูกธนูอยู่ใกล้ตัว เชื่อกันว่าธนูของคิวปิดที่ยิงไปต้องดวงใจของมนุษย์ทำให้เกิดความรัก ชาวกรีกเรียกคิวปิดว่า อีรอส (Eros) และนับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรักและมิตรภาพ


ขอขอบคุณข้อมูล

educatepark

http://variety.teenee.com/foodforbrain/23853.html

ที่มาของชื่อเดือน ทั้ง 12 เดือน



       
        สมัยก่อนปีหนึ่งๆ มี 355 วัน แต่มีแค่ 10 เดือน

        March หรือ มีนาคม เป็นเดือนแรกของปี ก็เป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งคำว่า March นั้นมีที่มาจากชื่อของเทพเจ้าแห่งสงครามที่ชื่อว่า Mars เนื่องจากว่าชาวโรมันน่ะทำสงครามกันบ่อยนั่นเอง

        April หรือ เมษายน มาจากภาษาละตินที่มีความหมายว่า "เปิดรับ" เนื่องจากผลผลิตที่หว่านไปในช่วงเดือนมีนาคมจะมาได้ผลเดือนนี้

        May หรือ พฤษภาคม มาจากชื่อของเทพเจ้าแห่งการเจริญเติบโต ที่มีชื่อว่า Maia เพราะพวกโรมันเชื่อว่า Maia จะช่วยคุ้มครองพืชพันธุ์ ให้เติบโตอุดมสมบูรณ์ดี

        June หรือ มิถุนายม เป็นชื่อที่ตั้งเป็นเกียรติแก่เทพเจ้า Juno ราชินีแห่งสรวงสวรรค์และการแต่งงาน อาจเป็นได้ว่า ชาวโรมันแต่งงานกันมากในเดือนนี้ เพราะเป็นช่วงที่อุดมสมบูรณ์

        July หรือ กรกฎาคม ไม่ได้ตั้งชื่อตามเทพเจ้าหรือฤดูกาล แต่มาจากชื่อของจักรพรรดิ์ผู้ยิ่งใหญ่ Julius Caesar

        August หรือ สิงหาคม ก็ตั้งชื่อตามหลานชายของ Julius ที่ชื่อ Caesar Augustus เพราะว่าเขาอยากมีชื่อเสียงเหมือน Julius บ้าง จึงตั้งชื่อเดือนนี้ โดยใช้ชื่อของเขา เดิมทีเดือนสิงหาคมมีแค่ 30 วันซึ่งน้อยกว่าเดือนของ Julius แต่ Augustus เพิ่มวันให้เดือนของตน โดยเอาวันจากเดือนกุมภาพันธ์มาหนึ่งวัน เพื่อให้ตนเท่าเทียมกัน Julius

        September หรือ กันยายน มาจากคำภาษาละตินว่า Septem ซึ่งแปลว่า '7' และเดือนนี้ก็เป็นเดือนที่ 7

        October หรือ ตุลาคม ก็มาจากคำภาษาละตินที่แปลว่า '8' ซึ่งคือคำว่า Octo

        November หรือ พฤศจิกายน ก็มาจากคำที่แปลว่า '9' คือคำว่า Novem นั่นเอง

        December หรือ ธันวาคม ก็แน่นอนมาจากคำว่า Decem ที่แปลว่า '10' งัย

        January หรือ มกราคม ถูกเพิ่มมาทีหลังพร้อมกับเดือน กุมภาพันธ์ คำว่า January มาจากชื่อของเทพเจ้า Janus ซึ่งเป็นเทพ 2 หน้า หน้าหนึ่งมองไปในอดีต อีกหน้ามองไปสู่อนาคต ซึ่งเป็นช่วงที่คนเราต้องมองย้อนสิ่งที่ตนทำ และมองไปข้างหน้าเฝ้ารอคอยปีใหม่

        February หรือ กุมภาพันธ์ มาจากคำภาษาละตินที่แปลว่า 'ชะล้าง' ซึ่งเป็นเดือนที่คนต้องชะล้างตัวเองให้สะอาดรอรับปีใหม่


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

http://variety.teenee.com/

เด็กหลอดแก้วคนแรกของโลก



        หลุยส์ บราวน์ (Louise Joy Brown) เด็กหลอดแก้ว (Test-Tube Baby) คนแรกของโลกถือกำเนิดขึ้น ที่โรงพยาบาล Royal Oldham Hospital โดยฝีมือของแพทย์สองคนได้แก่ โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ดส์ (Robert Edwards) และ แพทริค สเต็ปโท (Patrick Steptoe) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันบราวน์ทำงานที่ที่ทำการไปรษณีย์แห่งเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ เธอแต่งงานในปี 2547 และให้กำเนิดบุตรชายคนแรกในอีกสองปีต่อมา ทั้งนี้เด็กหลอดแก้วคือเทคนิคการของการปฏิสนธิสังเคราะห์ที่เรียกว่า “In vitro fertilization” หรือ "IVF” โดยการนำอสุจิของพ่อและไข่ของแม่มาทำการปฏิสนธิในหลอดทดลอง จากนั้นจึงค่อยนำตัวอ่อนไปฝังในมดลูกเพื่อให้เติบโตตามธรรมชาติต่อไป ตั้งแต่นั้นมา วิทยาการทางด้านการเจริญพันธุ์ก็เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว การทดลองประสบความสำเร็จมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีการประท้วงการทดลองเด็กหลอดแก้วกันอย่างกว้างขวาง ศาสนจักรบางแห่งถึงกับออกมาประณามนักวิทยาศาสตร์ว่าเป็น “ซาตาน” ที่บังอาจทำตัวไปเทียบเคียง “พระเจ้า” ในการให้กำเนิดมนุษย์ อย่างไรก็ตามเทคนิคการทำเด็กหลอดแก้วก็ได้พิสูจน์ยืนยันว่าปลอดภัย นำความหวังมาให้พ่อแม่ที่มีปัญหามีบุตรยาก ทุกวันนี้การผสมเทียมในหลอดแก้วกลายเป็นเรื่องธรรมดาของคู่สมรสทั่วโลกที่ไม่สามารถมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติ

        ประเทศไทย เด็กหลอดแก้วรายแรกเกิดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังจากบราวน์ 9 ปี โดยฝีมือของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประมวล วีรุตมเสน


ขอบพระคุณข้อมูลจาก www.seal2thai.org/sara/sara151.htm  และ www.thaidbmarket.com/mom_baby/in...ub%3D136

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

ทำไมหมวกพยาบาลจึงมีรูปร่างเช่นนั้น



        หมวกพยาบาลนั้นวิวัฒนาการมาจากหมวกของแม่ชีในศาสนาคริสต์เพราะพยาบาลเริ่มต้นมาจากการที่ผู้ศรัทธาในพระเจ้ารวมกลุ่มกันทำงานช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย ในสมัยของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (ค.ศ. 1820-1910) สตรีชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงในด้านการรักษาพยาบาลแผนปัจจุบันหมวกเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบนักเรียนพยาบาลในโรงเรียนของเธอในราวปี ค.ศ. 1900 ชุดสีขาวเป็นเครื่องแบบที่กำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนพยาบาลสวมใส่ ถือกันว่าสีขาวเป็นสีของผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว "ซองคำถาม" ทราบมาว่าในประเทศไทย นักศึกษาพยาบาลในบางสถาบันเช่นวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย จะมีพิธีรับหมวก (capping ceremony)โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ผ่านการศึกษาสองเทอมแรกแล้วจะเข้าพิธีรับหมวกในเดือนเมษายนของทุกปีถือเป็นพิธีที่นักศึกษาพยาบาลทุกคนให้ความสำคัญและตื่นเต้นมากที่จะได้สวมหมวกพยาบาลเพราะหมวกสีขาวนั้นเป็นเครื่องหมายว่าได้เข้าสู่การเป็นพยาบาลโดยสมบูรณ์"ตั้งแต่หัวจรดเท้า"และตระหนักรู้ว่าจะต้องมีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพและต้องเป็นนางพยาบาลที่ดีตามความคาดหวังของสังคม ดังนั้นหมวกพยาบาลจึงเป็นหมวกอีกชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นเพียงสัญลักษณ์ว่าผู้ที่ใส่นั้นเป็นบุคคลซึ่งได้รับการศึกษาวิชาการพยาบาล และพร้อมที่จะให้การดูแลผู้ป่วย

        เมื่อหมวกนั้นไม่ได้มีไว้ใส่กันแดดกันฝน การที่มันจะมีรูปร่างแปลกออกไปบ้างหรือดูแล้วไม่น่าจะใช้ประโยชน์ได้จริง ก็ไม่น่าเป็นเรื่องที่เราจะต้องตั้งข้อสงสัยอีกต่อไป ส่วนแถบสีดำที่อยู่บนหมวกพยาบาล พอจะใช้เป็นเครื่องสังเกตได้บ้างว่าเจ้าของหมวกนั้นจบการศึกษาระดับใด และเป็นหัวหน้าพยาบาลหรือไม่แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พยาบาลในบ้านเรามีต้นสังกัดแตกต่างกันมากมาย เช่นสังกัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลเอกชนซึ่งอาจจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดแถบบนหมวกไม่เหมือนกัน ในที่นี้ "ซองคำถาม" จะอธิบายในภาพรวม ผู้ที่จบการศึกษาพยาบาลมีสองพวกพวกแรกคือพยาบาลระดับต้น (เรียนสองปี) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พยาบาลเทคนิค (TN)จะติดแถบขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรตลอดความกว้างของหมวก ส่วนพยาบาลวิชาชีพ (RN -เรียนสี่ปี คุณวุฒิปริญญาตรี)จะติดแถบขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตรตลอดความกว้างของหมวกและถ้าเป็นหัวหน้าพยาบาลหรือหัวหน้าหอผู้ป่วย แถบจะกว้างขึ้นอีกเล็กน้อย ในบางโรงพยาบาลอาจให้ติดแถบกว้าง 1 เซนติเมตรสองแถบขนานกัน มีข้อสังเกตว่าโรงพยาบาลทหารบางแห่ง เช่น โรงพยาบาลภูมิพลในสังกัดกองทัพอากาศแถบบนหมวกพยาบาลจะเป็นสีน้ำเงินแทนที่จะเป็นสีดำ ในโรงพยาบาลบางแห่งอีกเช่นกันอาจจะพบว่ามีพยาบาลที่ติดแถบหมวกเฉียงที่มุมด้านขวานั่นคือตำแหน่งเจ้าหน้าที่พยาบาลหรืออาจเรียกได้ว่า ผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีน้อยแล้วในบางแห่งอาจกำหนดให้ผู้ช่วยพยาบาลสวมเครื่องแบบเสื้อปกคอบัว ในโรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย เช่น ศิริราช รามาธิบดีหมวกพยาบาลจะเป็นสีขาวล้วนไม่ติดแถบใด ๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ระเบียบปฏิบัติเหล่านี้อาจแตกต่างกันได้อย่างที่ "ซองคำถาม" ออกตัวไว้ในตอนต้น ถ้าข้อมูลที่เล่ามานี้ไม่ตรงกับที่ท่านเคยรู้มาก่อน ก็ขออย่าได้ว่ากัน !

ขอขอบคุณคุณจรรยา บำรุงเมือง แห่งโรงพยาบาลเลิดสินที่ช่วยค้นข้อมูลเรื่องหมวกพยาบาลให้
ที่มา : หนังสือ 108 ซองคำถาม   รูปภาพ : http://classified.sanook.com/

ทำไมเรียกปูอัดทั้งที่ทำมาจากปลา



        ปูอัดนั้น ภาษาทางการเรียกว่า เนื้อปูเทียม การผลิตเนื้อปูเทียม เกิดจากความคิดที่ว่า ปลาที่จับได้ในปัจจุบันส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ถือว่าไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเพราะผู้บริโภคไม่นิยมราคาจึงถูกมาก ประมาณร้อยละ ๙๐ ของปลาขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า ปลาเป็ด จะถูกนำไปทำเป็นปลาป่นสำหรับใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ นับได้ว่าเป็นการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และแล้วบริษัทแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นก็คิดค้นนำปลาดังว่านี้มาทำเป็นเนื้อปูเทียมขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในการทำประมง และมีบริษัทผลิตเนื้อปูเทียมมานานหลายปีแล้ว ปลาที่ใช้ได้แก่ ปลาทรายแดง ปลาทรายขาว ปลาตาโต ปลาดาบ ปลากะพง ฯลฯ วิธีทำเริ่มต้นจากการนำปลามาตัดหัว ควักไส้ทิ้ง ส่งเข้าเครื่องบีบเอาแต่เนื้อปลา นำปลาบดที่ได้มาผสมเครื่องปรุงจำพวกแป้ง น้ำตาล เกลือ ผงชูรส และกลิ่นปู เสร็จแล้วนำไปทำให้สุกและทำให้เนื้อปลามีลักษณะเป็นเส้นเหมือนเนื้อปูจริง ๆ จากนั้นจึงอัดเป็นแท่งยาว ๆ แล้วตกแต่งสีให้ดูเหมือนเนื้อปูจริง ๆ บางบริษัทถึงกับอัดเนื้อปูเทียมเป็นรูปก้ามปู (ที่แกะเปลือกแล้ว) ดูน่ากิน

        อย่างไรก็ตาม มีผู้บริโภคจำนวนมากคิดว่าปูอัดเป็นเนื้อปูจริง ๆ พอรู้ในภายหลังว่าทำมาจากเนื้อปลา ถึงกับเลิกกินไปเลยก็มี
ที่มา หนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี

ที่มาของสำนวน ตัดหางปล่อยวัด


        ตัดหางปล่อยวัด เป็นสำนวนหมายถึง ตัดขาดไม่เกี่ยวข้อง ไม่เอาเป็นธุระอีกต่อไป เช่น เด็กคนนี้ถูกพ่อแม่ตัดหางปล่อยวัดเพราะประพฤติตัวเกกมะเหรกเกเรไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้ใหญ่ สำนวนนี้มีที่มาจากการตัดหางไก่แล้วนำไปปล่อยเพื่อสะเดาะเคราะห์หรือแก้เคราะห์ในสมัยโบราณ มีหลักฐานในกฎมนเทียรบาลว่า เมื่อเกิดสิ่งที่เป็นอัปมงคล เช่นมีวิวาทตบตีกันถึงเลือดตกใน พระราชวังต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยเอาไก่ไปปล่อยนอกเมือง เพื่อให้พาเสนียดจัญไรไปให้พ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีประกาศกล่าวถึงการนำไก่ไปปล่อยที่วัดเพื่อสะเดาะเคราะห์ สันนิษฐานว่า ไก่ที่จะนำไปปล่อยที่วัดจะตัดหางเพื่อเป็นเครื่องหมายว่าเป็นไก่ที่ปล่อย เพื่อการสะเดาะเคราะห์ด้วย

ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

เงาะโรงเรียน ทำไมไม่เป็นเงาะอาชีวะหรือเงาะมหาวิทยาลัย



        ก็เพราะเงาะพันธ์นี้ไม่ได้ปลูกในวิทยาลัยอาชีวะหรือในมหาวิทยาลัยนะสิ

        เงาะโรงเรียนหรือเงาะพันธุ์โรงเรียน เป็นเงาะพันธุ์ที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน เงาะในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ตลอดทั้งเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ก็ไม่มีประเทศใดที่มีเงาะคุณภาพดีเท่ากับเงาะพันธุ์โรงเรียน แม้แต่ในมาเลเซียซึ่งเราได้เมล็ดเงาะพันธุ์นี้มา จึงกล่าวได้ว่าเงาะพันธุ์โรงเรียนเป็นเงาะพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลกเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้

        คำว่า "โรงเรียน" หมายถึง โรงเรียนนาสาร อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานีเงาะต้นแม่พันธุ์มีเพียงต้นเดียว ปลูกด้วยเมล็ดเมื่อปี พ.ศ.2469 โดยชาวจีนผู้หนึ่งมีสัญชาติมาเลเซีย ชื่อ Mr. K. Wong มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่เมืองปีนัง บุคคลผู้นี้ได้เข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกที่หมู่บ้านเหมืองแกะ ตำบลนาสาร อำเภอบ้านนาสาร ตรงกันข้ามกับโรงเรียนนาสาร เมื่อ Mr. K. Wong มาทำเหมืองแร่ก็ซื้อที่ดินริมทางรถไฟด้านทิศตะวันตก ใกล้กับสถานีรถไฟนาสารเป็นเนื้อที่ 18 ไร่ แล้วสร้างบ้านพักบนที่ดินดังกล่าว เมื่อสร้างบ้านเสร็จ Mr. K. Wong ก็นำพันธุ์(เมล็ด)เงาะมาจากเมืองปีนัง(ขณะนี้เงาะพันธุ์นี้ที่เมืองปีนึงไม่มีแล้ว) มาปลูกข้างบ้านพักจำนวน 4 ต้น ต่อมาปรากฏว่าเงาะมีลูกเป็นสีเหลืองบ้าง แดงบ้าง รสเปรี้ยวบ้าง หวานบ้าง เฉพาะต้นที่ 2 นับจากทิศตะวันออกมีลักษณะพิเศษกว่าต้นอื่น คือ เนื้อสุกแล้วเปลือกผลเป็นสีแดง แต่แม้สุกจัดเท่าไหร่ก็ตาม ขนที่ผลยังมีสีเขียวอยู่ รูปผลค่อนข้างกลม เนื้อกรอบ หวาน หอม เปลือกบาง เงาะต้นนี้คือ "เงาะพันธุ์โรงเรียน" สาเหตุที่เรียกว่าเงาะพันธุ์โรงเรียน เพราะในปี พ.ศ.2479 Mr. K. Wong ต้องเลิกล้มกิจการเหมืองแร่และเดินทางกลับไปอยู่ที่เมืองปีนังภูมิลำเนาเดิม จึงขายที่ดินดังกล่าวพร้อมด้วยบ้านพักให้แก่กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) แผนกธรรมการ อำเภอบ้านนา (อำเภอบ้านนาสาร) ทางราชการจึงปรับปรุงบ้านพักใช้เป็นอาคารเรียน และย้ายโรงเรียนนาสารซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่วัดนาสารมาอยู่อาคารดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 พฤศจิการยน พ.ศ.2479 แต่เงาะพันธุ์โรงเรียนในขณะนั้นยังมิได้แพร่หลายแต่ประการใด เนื่องจากการส่งเสริมทางการเกษตรยังไม่ดีพอ

        ในปี พ.ศ.2489-2498 มีบุคคลตอนกิ่งไปขายพันธุ์เพียง 3-4 รายเท่านั้น ครั้นถึงปี พ.ศ.2500-2501 ได้มีกรรมวิธีแพร่พันธุ์เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือการทาบกิ่ง มีการทาบกิ่งเงาะต้นนี้ไปเป็นจำนวนมาก ในระยะเดียวกันนั้น เงาะที่มาจากจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส คือเงาะพันธุ์ยาวี เจ๊ะโมง เปเราะ ก็เข้ามาแพร่หลายพอสมควร ประชาชนเห็นว่าเงาะต้นนี้ยังไม่มีชื่อ จึงชักชวนกันเรียกเงาะต้นนี้ว่า "เงาะพันธุ์โรงเรียน" เพราะต้นแม่พันธุ์อยู่ที่โรงเรียนนาสาร

        ปี พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯมาที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้นำชาวสวนเงาะผู้หนึ่งได้ทูลเกล้าฯถวายเงาะพันธุ์โรงเรียน และขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อพันธุ์เงาะนี้เสียใหม่ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า "ชื่อเงาะพันธุ์โรงเรียนดีอยู่แล้ว" นับแต่นั้นมา ไม่มีใครกล้าที่จะเปลี่ยนชื่อเงาะพันธุ์นี้อีกต่อไป ขอขอบคุณข้อมูลจาก : 108 ซองคำถาม

ที่มาของคำว่า ok



       คนส่วนใหญ่ น้อยคนนักที่ไม่รู้จักคำว่า O.K. เรามักจะได้ยินคนพูดกันติดปาก ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ไม่ว่าวัยใดก็ตาม แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า.. คำคำนี้มีที่มาอย่างไร ?

       จริง ๆ แล้วที่มาของคำนี้เป็นที่ถกเถียงกันมายาวนาน และยังไม่มีข้อสรุปอย่างแน่ชัด แต่หนึ่งในเรื่องราวที่นิยมกันคือเรื่องนี้

       คำว่า O.K. มาจากคำเต็มว่า Oll Korrect ซึ่งที่ถูกต้องคือ All Correct ( แปลว่า ถูกต้อง )มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจจาก พ่อค้าชาวอเมริกันคนหนึ่ง มีฐานะ ตำแหน่งหน้าที่การงานสูง แต่การศึกษาน้อย ทุกครั้งที่เขาสั่งงานลงในใบสั่ง ถ้างานชิ้นใดถูกต้อง ตกลง และอนุมัติ เขาจะ เขียนคำว่า Oll Korrect ลงในใบสั่งใบนั้นเสมอๆ ต่อมากิจการของพ่อค้าคนนี้ มีความเจริญก้าวหน้ามาก งานที่ติดต่อมาก็มีมากขึ้น ใบสั่งงานก็มีมากมายล้นโต๊ะ การที่เขาจะต้องเขียนคำ Oll Korrect ลงในใบสั่งทุกใบทำให้ต้องใช้เวลามาก เขาจึงย่อเหลือเพียงสั้นๆ คำ O.K. ซึ่งมีผล และความหมายเหมือนกัน คำว่า "อนุมัติ" นั่นเอง และก็เลยมีการใช้กัน อย่างแพร่หลาย ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน มากันจนปัจจุบันทั่วโลกทีเดียว

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.miketodd.net/encyc/okay.htm และ http://en.wikipedia.org/wiki/Okay
ขอบพระคุณข้อมูลจาก http://campus.sanook.com/

กำเนิดไอศกรีมโคน



        ต้นกำเนิดการค้นพบโคน..ยังสับสนอยู่หลายตำนาน บ้างก็ว่า ชาวอิตาเลียนอพยพ ชื่อนาย อิตาโล มาร์ชิโอนี ผู้จดสิทธิบัตรถ้วยวาฟเฟิลที่กินได้ในปี ค.ศ.1903

        เขาบอกว่าเขาทำโคนมาตั้งแต่ 22 กันยายน ค.ศ.1886 เพื่อเสิร์ฟกับไอสกรีม ที่ถนนวอลล์สตรีท ในกรุงนิวยอร์ก

        แต่แมรี่ ลู เมนช์ส บอกว่าคนที่คิดค้นเป็นปู่ของเธอเอง ชื่อ ชาร์ลส์ โรเบิร์ต และน้องชาย ทั้งคู่คิดค้นไอศกรีมโคนขึ้นมาในปี ค.ศ. 1904 ตอนขายไอศกรีมอยู่ในงานเทศกาลที่เซนต์หลุยส์ มิสซูรี

        "...มีเรื่องเล่ามากมายเลยค่ะ บางคนบอกว่าจานสำหรับใส่ไอศกรีมหมด และเนื่องจากร้านขายไอศกรีมอยู่ติดกับร้านวาฟเฟิล (ขนมรังผึ้ง) พวกเขาก็เลยตักไอศกรีมใส่วาฟเฟิลแทน และมันก็เข้าท่าดี"

        มีตำนานอีกเรื่องคล้ายๆ กันคือชาย ชื่อฮัมวี เป็นคนอบขนมปังอพยพ ชาวซีเรียที่อ้างว่าไปขายขนมในงานเดียวกัน เขาได้ความคิดตอนที่ร้านขายไอศกรีมที่อยู่ข้างๆ จานหมด !! เขาเลยม้วนเวเฟอร์ของเขาที่เรียกว่า ซาลาเบีย ตอนที่ยังร้อนๆ แล้วปล่อยให้เย็นเพื่อขายให้ร้านไอศกรีมเอาไปใส่ไอศกรีม


        แต่ไม่ว่าใครจะเป็นคนคิดค้น ... ไอศกรีมโคนก็ทำให้เราอร่อยกับไอศกรีมได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง


ขอบพระคุณข้อมูลจาก http://campus.sanook.com/

ไอศกรีมซันเดมีอะไรเกี่ยวข้องกับวันอาทิตย์


        คำว่า "ซันเด" (sundae) ในไอศกรีมซันเด บิดมาจากคำว่า "ซันเดย์" (Sunday) วันอาทิตย์ เนื่องจากขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านการดื่มสุราในช่วงทศวรรษ 1880-1889

        ถือว่าน้ำโซดาเกี่ยวโยงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลายเมืองในภาคตะวันตกตอนกลาง ถึงกับออกกฏหมายห้ามจำหน่ายไอศกรีมโซดาในวันอาทิตย์

        บรรดาเจ้าของร้านขายไอศกรีมและน้ำโซดาหัวใสที่ไม่ต้องการเสียรายได้งาม ๆ ในวันที่ขายดีที่สุดในรอบสัปดาห์ จึงคิดวิธีการที่ง่ายที่สุดเพื่อเลี่ยงกฏหมายที่ "เหลวไหล" นี้โดยไม่ต้องเติมโซดาลงในไอศกรีมโซดา เติมแต่น้ำเชื่อมรสต่าง ๆ ลงบนไอศกรีมแทน

        ไอศกรีมสูตรใหม่ที่เสิร์ฟในวันอาทิตย์นี้ให้ชื่ออย่างเหมาะเจาะว่า "a sunday" ต่อมาเปลี่ยนอักษรตัว y ให้ชื่อเป็นอักษร e เพื่อหลีกเลี่ยงการต่อต้านจากโบสถ์

        ดูเหมือนว่าไอศกรีมสูตรใหม่ได้กลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จเกินคาด ทุกวันนี้ไอศกรีมซันเดเป็นที่นิยมรับประทานกันมากกว่าไอศกรีมโซดาเสียอีก


ที่มา : 108 ซองคำถาม
รูปภาพ : wiki

ทำไมคนต่างชาติ ถึงถูกเรียกว่า ฝรั่ง



        "ฝรั่ง" เป็นคำเรียกติดปากของคนไทยที่เรียกชาวต่างชาติ จริงๆ แล้วคำว่าฝรั่ง เค้าว่ากันว่าพวกแขกโซนอาหรับเป็นผู้เรียกก่อนใครเพื่อน เพราะเค้าได้ติดต่อสมาคมกับพวกฝรั่ง มานานแล้ว พวกเค้าจะเรียกชาวต่างชาติกันว่า "แฟรงก์"

        สาเหตุที่เรียกอย่างนี้ก็เพราะว่า แฟรงก์เป็นชื่อของชาวยุโรปโบราณที่มีชื่อเสียงมากชาวแขกก็เลยเหมารวมเรียกชาวต่างชาติว่าแฟรงก์กันหมด แต่ไหงไม่รู้อีท่าไหนพออิมพอร์ตเข้ามาเมืองไทยในสมัยอยุธยาสำเนียงถึงเพี้ยน จากแฟรงก์เป็นฝารั่ง หรือ ฝรั่ง ซึ่งเรียกเพี้ยนต่อๆ กันมาตามความถนัดของลิ้นอีกทอดหนึ่ง


ขอบพระคุณข้อมูลจาก http://campus.sanook.com/

ต้นกำเนิดโดเรมอน (Doraemon)



        โดราเอมอน หรือ โดเรมอน เป็นตัวละครจากการ์ตูนเรื่องโดราเอมอน เป็นหุ่นยนต์แมวจากโลกอนาคต ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 22เกิดวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2655 (ค.ศ. 2112) ลักษณะตัวอ้วนกลมสีฟ้า (เมื่อแรกเกิดมามีสีเหลือง) ไม่มีใบหู เนื่องจากถูกหนูแทะ มีหน้าที่เป็นหุ่นยนต์พี่เลี้ยงซึ่งคนที่ซื้อโดราเอมอนมาคือเซวาชิเหลนชาย ของโนบิตะ วันหนึ่งเซวาชิเกิดอยากรู้สาเหตุที่ฐานะทางบ้านยากจน จึงได้กลับไปในอดีตด้วยไทม์แมชชีน จึงได้รู้ว่าโนบิตะ (ผู้เป็นปู่ทวด) เป็นตัวต้นเหตุ เซวาชิจึงได้ตัดสินใจให้โดราเอมอนย้อนเวลาไปคอยช่วยเหลือดูแลเวลาโนบิตะโดน แกล้งโดยใช้ของวิเศษที่หยิบจากกระเป๋าสี่มิติ
        โดราเอมอนเคยได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์เอเชีย ให้เป็นหนึ่งในวีรบุรุษของทวีปเอเชีย และในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2551 มาซาฮิโกะ คามูระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้แต่งตั้งให้โดราเอมอนเป็นทูตสันถวไมตรีอย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยในการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของประเทศ โดยนับเป็น "ทูตแอนิเมชัน" ตัวแรกของประเทศญี่ปุ่น

แรงบันดาลใจ
        ตัวละครโดราเอมอนนั้น ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2512 เนื่องจากนักวาดการ์ตูนทั้ง 2 ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ได้ลงโฆษณาการ์ตูนเรื่องใหม่ของเขาทั้งสองไว้ว่าจะมีตัวเอกที่ออกมาจาก ลิ้นชัก ในนิตยสารการ์ตูนฉบับต้อนรับปีใหม่ แต่ในความจริงแล้วทั้งสองยังไม่มีไอเดียเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้แม้แต่ น้อยเลย เมื่อใกล้ถึงเวลาส่งต้นฉบับก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับทั้งสองเป็นอย่างมาก

        ฮิโรชิ ฟุจิโมโตะ หนึ่งในนักวาดการ์ตูน ได้เผอิญเห็นแมวจรจัดที่มักแอบเข้ามาเล่นที่บ้านของตนเองเป็นประจำ เขามักจะชอบจับแมวตัวนี้มาหาหมัด จนเวลาล่วงเลยมาถึง 4.00 น. ก็ยังไม่มีไอเดียเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องใหม่ ทำให้ฮิโรชิโมโหตัวเองเป็นอย่างมาก และคิดเลยเถิดไปว่าโลกนี้น่าจะมีไทม์แมชชีน เพื่อย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต หลังจากนั้นฮิโรชิได้เผลอหลับไปด้วยความอ่อนล้า เมื่อเขาสะดุ้งตื่นขึ้นมา ทำให้เขาตกใจว่าตนเองเผลอหลับไป จึงรีบวิ่งลงจากบันไดบ้านไปสะดุดกับตุ๊กตาล้มลุกญี่ปุ่นของลูกสาวที่ตกอยู่ บนพื้น

        เหตุนี้เองทำให้ฮิโรชิเกิดไอเดียขึ้นโดยนำหน้าแมวจรจัดมาผสมกับตุ๊กตา ญี่ปุ่น สร้างออกมาเป็นตัวละครหุ่นยนต์แมวจากอนาคตคอยช่วยเหลือเด็กชายที่แสนจะไม่ ได้เรื่อง และตั้งชื่อว่า โดราเอมอน เป็นคำผสมระหว่าง "โดราเนโกะ" กับ "เอมอน" ในภาษาญี่ปุ่น โดราเนโกะนั้นแปลว่าแมวหลงทาง ส่วนคำว่า "เอมอน" เป็นคำเรียกต่อท้ายชื่อของเด็กชายในสมัยก่อนของประเทศญี่ปุ่น

ต้นกำเนิดของโดราเอมอน
        โดราเอมอนถูกผลิตขึ้นในโรงงานสร้างหุ่นยนต์ที่เมืองโตเกียว เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2112 (พ.ศ. 2655) แต่ในระหว่างการผลิตเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ทำให้โดราเอมอนมีคุณสมบัติไม่เหมือนหุ่นยนต์แมวตัวอื่น ต้องเข้ารับการอบรมในห้องเรียนคลาสพิเศษของโรงเรียนหุ่นยนต์ (และได้พบกับเพื่อนๆ แก๊ง ขบวนการโดราเอมอน ที่นั่น) จนกระทั่งวันหนึ่ง ในงาน "โรบ็อต ออดิชัน" ซึ่งเป็นงานที่จัดให้มีการแสดงความสามารถของหุ่นยนต์ที่ได้ผ่านการอบรมแล้ว ด้วยความซุกซนของเซวาชิในวัยเด็ก เขาจึงได้กดปุ่มเลือกซื้อโดราเอมอนมาไว้ที่บ้าน ด้วยเหตุนี้ โดราเอมอนจึงได้มาอยู่อาศัยที่บ้านของเซวาชิ ในฐานะของหุ่นยนต์เลี้ยงเด็ก แต่ในต้นฉบับดั้งเดิมนั้นจะแตกต่างกัน คือ โดราเอมอนได้ถูกนำไปขายทอดตลาด เพราะเป็นสินค้าไม่ได้คุณภาพ จากนั้นพ่อแม่ของเซวาชิจึงมาซื้อโดราเอมอนไปไว้ที่บ้าน

        แต่เดิมนั้นตัวโดราเอมอนมีสีเหลือง และมีหู แต่แล้วในวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 2122 ขณะที่โดราเอมอนหลับอยู่นั้น ใบหูก็โดนหนูแทะจนแหว่งไปทั้ง 2 ข้าง และไม่สามารถซ่อมแซมให้เหมือนเดิมได้ หลังจากรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หุ่นยนต์แมว "โนราเมียโกะ" แฟนสาวของโดราเอมอนก็มาเยี่ยม แต่พอทราบว่าโดราเอมอนไม่มีหู เหลือแต่หัวกลม ๆ โนราเมียโกะถึงกับหัวเราะเป็นการใหญ่ ทำให้โดราเอมอนเสียใจเป็นอย่างมาก แต่ก็พยายามทำใจด้วยการดื่มยาเสริมกำลังใจ แต่ว่าโดราเอมอนหยิบผิดกินยาโศกเศร้าแทน ทำให้โศกเศร้ากว่าเดิม และเริ่มร้องไห้ไม่หยุดอยู่ริมชายหาด3วัน3คืน จนสีลอกเปลี่ยนเป็นสีฟ้าอย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน หลังจากนั้นโดราเอมอนจึงเกลียดและกลัวหนูเป็นอย่างมาก และไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเองเกี่ยวกับเรื่องความรัก

        นอกจากนั้น โดราเอมอนยังมีน้องสาวชื่อโดรามี ที่จริงก็แค่ใช้เศษเหล็กแบบเดียวกันในการผลิต แต่โดเรมีใช้น้ำมันรุ่นใหม่ ขณะที่ผลิตโดราเอมอนอยู่ได้ทำชิปหล่นหายไป 1 ส่วน จึงทำให้หยิบของวิเศษผิดพลาดบ่อยๆ

ข้อมูลจำเพาะของโดราเอมอน
        เป็นความตั้งใจของผู้วาดการ์ตูนที่ใช้ตัวเลข 3-9-12 กับตัวละครนี้ โดราเอมอนจึงมีอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับตัวเลขชุดนี้

มีน้ำหนัก 129.3 กิโลกรัม

ความสูง 129.3 เซนติเมตร (แต่เวลานั่ง จะเหลือ 100 เซนติเมตร)

กระโดดได้สูง 129.3 เซนติเมตร (เวลาเจอหนู)

มีพละกำลัง 129.3 แรงม้า

วัดรอบหัว รอบอก รอบเอวได้ 129.3 เซนติเมตร

วิ่งปกติในระยะ 50 เมตรใช้เวลา 15 วินาที แต่ถ้าเจอหนูจะวิ่งได้เร็วถึง 129.3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

วันที่ผลิตคือ ปีที่ 12 เดือน 9 วันที่ 3 (เรียงแบบปฏิทินญี่ปุ่น)

ส่วนประกอบในร่างกาย
        เนื่อง จากเป็นหุ่นยนต์แมวที่ผลิตขึ้นในอนาคตคือคริสต์ศตวรรษที่ 22 ตามจินตนาการของผู้แต่ง ส่วนประกอบในร่างกายของโดราเอมอนจึงเต็มไปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

หัว
        โดราเอมอนเป็นหุ่นยนต์ แมวที่มีการติดตั้งชิปคอมพิวเตอร์ในหัว ทำให้มีความรู้สึกนึกคิด สามารถพูดภาษามนุษย์ (ภาษาญี่ปุ่น) และพูดภาษาแมวได้ แต่ภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาญี่ปุ่น และภาษาสัตว์อื่นๆ จะฟังไม่รู้เรื่อง จึงต้องพึ่ง "วุ้นแปลภาษา" กับ "หูฟังภาษาสัตว์" แทน อีกทั้งยังสมองไม่ไวเท่าที่ควร เวลาคำนวณเลขยากๆ จึงต้องใช้กระดาษทด หรือเครื่องคิดเลขช่วย นอกจากนี้ หัวของโดราเอมอนยังแข็งราวกับหิน ซึ่งเขาถือว่าเป็นอาวุธลับขั้นสุดท้ายของตัวเอง โดยสามารถเอาหัวโขกจนประตูพังได้ และวิ่งกระโจนเอาหัวพุ่งใส่แทงค์แก๊ส จนแทงค์เป็นรูเสียหาย (แต่ตนเองก็หมดสติไปเลยเช่นกัน)

ใบหน้า
        ใบหน้าของโดรา เอมอน มีลักษณะเป็นทรงกลม จมูกกลมสีแดง และมีหนวด 6 เส้น ดูคล้ายกับแมว แต่คนอื่นๆ มักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นทานูกิ หรือแรคคูน ซึ่งโดราเอมอนจะไม่พอใจทุกครั้งที่ถูกเรียกแบบนั้น

ตา
        ตาแสงอินฟราเรด สามารถมองเห็นได้แม้แต่ในที่มืด

จมูก
        มีลักษณะเป็นลูก กลมๆ สีแดง เหมือนกับปลายหาง รับรู้กลิ่นได้ไวกว่ามนุษย์ 20 เท่า แต่ปัจจุบันชำรุด จึงสามารถดมกลิ่นได้เท่าจมูกคนเท่านั้น

หนวด
        มี 6 เส้น เป็นหนวดเรดาร์ สามารถจับวัตถุระยะไกลได้ แต่อยู่ระหว่างรอซ่อมแซม

ร่างกาย
        ผิวหนังเป็น โลหะผสมพิเศษต้านแรงดึงดูด ทำให้ฝุ่นละอองไม่สามารถจับเกาะได้ นอกจากนี้ยังมีความทนทานสูง แม้อยู่ในอวกาศหรือใต้ทะเลลึกก็ไม่เป็นปัญหา โดนของเหลวคล้ายกรดสาดใส่ก็ไม่ละลาย แต่ก็มีข้อเสียหลายอย่างเช่นกัน คือ แพ้อากาศร้อน และแพ้อากาศหนาว จนถึงขั้นเป็นหวัดได้ หากโดนไฟฟ้าช็อตก็จะเสียหาย

มือ
        รูปร่างกลมสีขาวไม่มีนิ้วมือ จึงไม่สามารถเล่นพันด้าย และเป่ายิ้งฉุบได้ เล่นบาร์โหนก็ไม่ถนัด แต่สามารถดูดจับสิ่งของได้ทุกอย่าง

ปาก
        ปากขนาดกว้าง สามารถรับประทานได้ทุกอย่าง โดยจะเปลี่ยนเป็นพลังงานปรมาณู ภายในปากจะมีฟันที่เรียกว่า "ฟู้ดคัตเตอร์" ซึ่งจะปรากฏให้เห็นเฉพาะเวลาที่โดราเอมอนโกรธจนต้องยิงฟันเท่านั้น แต่ในตอนพิเศษ "ไดโนเสาร์ของโนบิตะ 2006" โดราเอมอนกลับถูกวาดให้มองเห็นซี่ฟันอย่างชัดเจน

กระพรวน
        ไว้ห้อยคอ มีสีเหลือง ส่วนสายคาดมีสีแดง เมื่อสั่นกระพรวนจะสามารถเรียกแมวที่อยู่ใกล้เคียงมาชุมนุมกันได้ โดยจะปล่อยคลื่นเสียงพิเศษ แต่ตอนนี้ใช้งานไม่ได้ ปัจจุบันจึงได้เปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่เพื่อใช้งานเป็นกล้องถ่ายรูปขนาดเล็กแทน

กระเป๋าหน้าท้อง
        เป็น กระเป๋าสี่มิติ ไว้สำหรับเก็บของวิเศษ พื้นที่เก็บของไม่มีจำกัด สามารถถอดไปทำความสะอาดได้ โดยระหว่างนั้นจะนำกระเป๋าสี่มิติใบสำรอง หรือที่มักเรียกว่า "กระเป๋าสำรอง" มาใช้แทน ซึ่งกระเป๋าทั้งสองจะมีมิติเชื่อมต่อกัน ของที่เอาใส่ในกระเป๋าใบหนึ่ง จะสามารถนำออกมาจากกระเป๋าอีกใบหนึ่งได้

เท้า
        ลักษณะแบนเรียบ สีขาว มีพลังต้านแรงดึงดูด ส่งผลให้เท้าอยู่ลอยจากพื้น 3 มิลลิเมตร เลยไม่จำเป็นต้องใส่รองเท้าเพราะไม่มีฝุ่นผงติดเท้า เดิมทีเท้าของโดราเอมอนจะเป็นแบบที่สามารถเดินได้โดยไม่มีเสียงเหมือนกับแมว ย่อง แต่ปัจจุบันชำรุดไปแล้ว ทำให้เวลาเดินจึงมีเสียงจากแรงเสียดสีกับอากาศ สำหรับเวลาขี่จักรยานต้องใช้ปากจับแฮนด์ และใช้มือถีบที่ปั่นจักรยานแทน เนื่องจากขาหยั่งไม่ถึง

หาง
       เป็นสวิตช์ปิด-เปิด ถ้าถูกดึง ทุกอย่างจะหยุดทำงาน โดราเอมอนสามารถดึงหางเพื่อปิดสวิตช์ตัวเอง แต่ไม่สามารถดึงเพื่อเปิดเองได้

สิ่งที่ชอบ-เกลียด
        สิ่งที่ชอบที่สุดคือขนมหวานญี่ปุ่นที่เรียกว่า โดรายากิ (แป้งทอด) โดยสามารถกินโดรายากิขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (ขนาดใหญ่เท่าห้องของโนบิตะ) ได้คนเดียวหมด และเคยชนะเลิศการแข่งขันกินโดรายากิเร็วมาแล้ว และเพียงแค่ไม่ได้กินโดรายากิติดต่อกัน 3 วัน ก็แทบจะทนมีชีวิตอยู่ไม่ได้ สาเหตุที่ชอบกินโดรายากินั้น เป็นเพราะสมัยอยู่ในศตวรรษที่ 22 โดราเอมอนเคยได้รับโดรายากิจากแมวสาว "โดราเมียวโกะ" มันจึงกลายเป็นของโปรดของเขามาตั้งแต่บัดนั้น เขาสามารถทำได้ทุกอย่างโดยไม่เลือกวิธีการเพื่อให้ได้โดรายากิมา หากได้ยินว่ามีร้านค้าร้านไหนที่ขายโดรายากิลดราคาก็จะรีบบึ่งไปซื้อมาใน ทันที ซึ่งจากความชอบจนกลายเป็นของโปรดนี้เอง จึงทำให้โดราเอมอนให้ความสำคัญกับเรื่องรสชาติความหวานของโดรายากิเป็นอย่าง มาก จนถึงกับเคยมีเรื่องถกเถียงกับเจ้าของร้านขายขนมมาแล้ว หลังจากที่ทางร้านทำโดรายากิออกมาหวานเกินไป

       นอกจากโดรายากิแล้ว อาหารอย่างอื่นที่โดราเอมอนชอบก็คือ ขนมโมจิ ซึ่งเคยได้กินในตอนแรกสุด ที่เพิ่งเดินทางมาหาโนบิตะด้วยไทม์แมชชีน โดยเมื่อโดราเอมอนได้กิน ก็บอกว่า อร่อยมาก ขนาดกินจนหมดแล้วยังถึงกับเลียจานเลยทีเดียว

        ส่วนสิ่งที่โดราเอมอนเกลียดและกลัวที่สุดคือ หนูเพราะเคยโดนหนูกัดหูจนหูแหว่งไปทั้ง 2 ข้างตอนหลับ นอกจากนั้นยังกลัวแฮมสเตอร์ด้วย เพราะโดราเอมอนถือว่าเป็นสัตว์ในตระกูลเดียวกับหนู

ตอนจบของโดราเอมอน
        พล็อตเรื่อง โดราเอม่อนตอนจบนั้น ตามที่ได้ทราบกันดีนั้น คือมีที่มาจากฟิกชั่น ที่ถูกเผยแพร่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ทั้งในรูปแบบ แฟนฟิคชั่น ข่าวลือ หรือ เมล์ลูกโซ่ โดย พล็อตนั้นก็มีหลายหลาย ส่วนมากที่พบจะเกี่ยวกับ ความตาย, ความฝัน, อุบัติเหตุ ซึ่งที่พบเห็นบ่อย ก็จะมีอยู่ใน 3 รูปแบบ คือ

* โนบิตะ เป็นคนสร้างโดราเอม่อน

* โนบิตะ ป่วยเป็นโรคร้ายแรง

* เรื่องทั้งหมดของโดราเอม่อน เป็นเรื่องที่โนบิตะฝันไปเอง

        ซึ่งที่ยังหลงเหลือในปัจจุบัน คือพล็อตแรก โนบิตะเป็นคนสร้างโดราเอม่อน และ โนบิตะป่วยเป็นโรคร้ายแรง+ฝันเรื่องโดราเอม่อนไปเอง แต่อย่างไรก็ดี โดราเอม่อนตอนจบทุกแบบนั้น ล้วนแต่เป็นเพียงเสียงเล่าอ้าง และไม่มีหลักฐานใดๆอย่างชัดเจน

        จริงแล้วนั้นโดราเอม่อนนั้นเคยจบไปแล้วหนึ่งครั้ง ในจะเป็นตอนสุดท้ายของรวมเล่ม ที่ 6 ชื่อตอนว่า ลาก่อนโดราเอม่อน แต่สุดท้ายแล้ว เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งแฟนๆ และ อ.ฟุจิโกะผู้เขียน โดราเอม่อนก็จึงได้กลับมาใหม่อีกครั้ง

        ที่มาของโดจินชิ โดราเอม่อน ตอนจบ การ์ตูนชุดนี้เป็นงานโดจินชิ (การ์ตูนทำมือ) ที่วาดโดย อ.ทะจิม่า ยาสุเอะ (Tajima Yasue) ในชื่อกลุ่ม ว่า GA-FAKE COTERIE โดยใช้โครงเรื่องจากฟิกชั่นเกี่ยวกับตอนจบของโดราเอม่อน ที่แพร่กระจายตามเมล์ลูกโซ่ (หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า Forward Mail) ซึ่งเริ่มวางขายครั้งแรกในงาน Comic Market ฤดูร้อน ครั้งที่ 68 ช่วงวันที่ 12-13 สิงหาคม 2548

        และหลังจากนั้น ในงาน Comic Market ครั้งต่อมา (C69) ฤดูหนาว ช่วงวันที่ 29-30 ธันวาคม 2548 ผลงานชิ้นนี้ก็ได้รับความสนใจจากแฟนๆโดราเอม่อน จนเริ่มมีการเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นที่กว้างขวาง และปัจจุบันก็ยังมีผู้ให้ความสนใจ จนหนังสือขาดตลาด และต้องพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง

        แต่อย่างไรก็ตาม ผลงานนี้เป็นเพียงที่เขียนเพื่อเป็นที่ระลึกในการสร้างอะนิเมะฉบับหนังโรง (โนบิตะกับพีสุเกะ 2006)ด้วยความที่เป็นแฟนโดราเอมอนของ อ.ทะจิม่า เท่านั้น เพราะฉะนั้นตอนจบที่แท้จริงของโดราเอมอนจึงไม่มีแต่อย่างใด ซึ่งนับว่าหาได้ยากและถือเป็นการ์ตูนในตำนานเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

ข้อมูลเพิ่มเติม : http://th.wikipedia.org/wiki/โดเรมอน

ใครแต่งเพลง Happy Birthday to You



        ไม่มีงานวันเกิดไหนที่จะสมบูรณ์ได้ปราศจากเค้ก เทียนและการร้อง "แฮปปี้เบิร์ธเดย์ทูยู" บทเพลงนี้คุ้นหัวคนทั่วโลกแต่คนแต่ง กลับยังคงเป็นปริศนาทำนองหรือเมโลดี้ของเพลงนี้ ถูกแต่งขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 โดยแพตตี้ และมิลเดรด ฮิลล์ พี่น้อง 2 สาวชาวอเมริกันจากรัฐเคนทักกี้ ซึ่งมีอาชีพเป็นครูทั้งคู่แรกเริ่มนั้น

        เนื้อเพลงไม่ได้เป็นอย่างในปัจจุบัน โดยแทนที่จะเป็น "happy birthday to you," กลับเป็น "good morning to all" ในปี 1893 ขณะที่มิลเดรดเป็นครูที่โรงเรียน Louisville Experimental Kindergarten Schoolโดย แพตตี้ ผู้เป็นน้องสาวนั้นเป็นครูใหญ่ มิลเดรดแต่งทำนองเพลงนี้ขึ้น โดยแพตตี้ก็แต่งเนื้อร้องให้จนได้เพลงชื่อ "Good Morning to All" ซึ่งพี่น้อง 2 คน

        ใช้เป็นเพลงทักทายเด็กในชั้นเรียน เนื้อเพลงตามต้นฉบับดั้งเดิม มีดังนี้

Good morning to you

Good morning to you

Good morning, dear children

Good morning to all

        ต่อมา บทเพลงดังกล่าวก็ถูกพิมพ์ลงหนังสือเพลง "Song Stories For The Kindergarten" จึงเป็นที่รู้จักและครูในโรงเรียนอื่น ก็ใช้เอาไปร้องทักนักเรียนด้วย จากนั้นไม่นานก็เป็นที่นิยมสำหรับเด็ก นักเรียนเอาไปใช้ร้องกับครูแทน และก็เป็นที่รู้จักในชื่อ "Good Morning To You"

        เนื่องจากเนื้อเพลงท่อนที่ 3 นั้นถูกเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมแต่สำหรับใครเป็นผู้คิดแต่งเนื้อพลงให้กลายเป็น "Happy Birthday to You" ยังไม่แน่ชัดว่าใครเป็นคนแต่งขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่าเนื้อเพลง นี้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก ในหนังสือเพลงฉบับหนึ่ง ในปี 1924

        โดยเป็นเนื้อเพลงบทที่ 2 ของเพลง "Good Morning to You" จากนั้นหนังหลายเรื่องและรายการวิทยุก็นำไปใช้เป็นเพลงอวยพรวันเกิด จาก"Good Morning To You" ก็เลยเปลี่ยนไปเป็น "Happy Birthday To You" ในที่สุด

ขอบพระคุณข้อมูลจาก http://campus.sanook.com/

รางวัลโนเบล มีขึ้นเพื่อ??





        อัลเฟร็ด โนเบล (Alfred Nobel) นักเคมีชาวสวีเดน ผู้ประดิษฐ์ชุดดินระเบิดที่เรียกว่า ไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerine) หรือระเบิดไดนาไมต์ รู้สึกเสียใจที่ระเบิดของเขาถูกนำไปใช้ในการคร่าชีวิตมนุษย์

        เมื่อเขาเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1896 เขาระบุในพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติให้นำไปตั้งมูลนิธิโนเบล เพื่อเป็นการสนับสนุน และมอบรางวัลให้แก่บุคคลที่มีผลงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่น หรือสร้างคุณประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ โนเบลแสดงเจตนารมณ์ไว้ในพินัยกรรมของเขาอย่างชัดแจ้งว่า

        "...It is my express wish that in awarding the prizes no consideration be given to the nationality of the candidates, but that the most worthy shall receive the prize, whether he be Scandinavian or not. ..." ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับรางวัลนี้ต้องเป็น "บุคคลผู้อำนวยคุณประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ" โดยไม่จำกัดว่าบุคคลผู้นั้นจะมีเชื้อชาติไหน พูดภาษาใด

        พิธีมอบรางวัลโนเบลจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันที่ 10 ธันวาคม โดยจัดขึ้นครั้งแรกหลังจากโนเบลเสียชีวิตไปได้ 5 ปี (ค.ศ. 1901) มี 5 สาขา คือ คือ ฟิสิกส์ (physics) เคมี (chemistry) การแพทย์และสรีรวิทยา (physiology or medicine) วรรณกรรม (literature) สันติภาพ (peace) และในปี ค.ศ. 1969 จึงเพิ่มรางวัลอีก 1 สาขา คือสาขาเศรษฐศาสตร์ (economic)

        ผู้พระราชทานรางวัลโนเบลคือ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรสวีเดน แม้ว่าบางปีรางวัลบางสาขาอาจไม่มีการตัดสิน แต่มีข้อกำหนดว่าระยะเวลาของการเว้นการมอบรางวัลต้องไม่เกิน 5 ปี รางวัลที่มอบให้ประกอบด้วย เหรียญทองที่ด้านหน้าสลักเป็นรูปหน้าของอัลเฟร็ด โนเบล พร้อมใบประกาศเกียรติคุณและเงินสด

        รางวัลโนเบลถือ เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่และทรงเกียรติของชาวโลก ถือเป็นสิ่งที่เชิดชูเกียรติ บ่งบอกถึงความเก่งกาจ ยอดเยี่ยม และเป็นผู้อุทิศตนเพื่อความเจริญก้าวหน้า ความสงบและสันติของสังคมโลก


ที่มา : http://www.lib.ru.ac.th/
ภาพ Alfred Nobel จากหนังสือ NOBEL PRIZE 100 ผู้พิชิตรางวัลโนเบล

ความเชื่อและรอยยิ้ม น่ารักๆ ของ 'ตุ๊กตาไล่ฝน'



        ฤดูฝนอีกแล้ว.. แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบฝน เราจะหยุดมันได้ไหม วันนี้มีเรื่องราวน่ารักๆกับความเชื่อของ "ตุ๊กตาไล่ฝน" หรือ ที่ชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่า "ตุ๊กตาเทะรุเทะรุโบซุ" มาฝาก...

        "ตุ๊กตาไล่ฝน" ที่เราคุ้นตาจากการ์ตูนชื่อดัง "อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา" ที่ในเรื่อง อิคคิว เอาตุ๊กตาไล่ฝนแขวนไว้ที่หน้าที่พัก ใช้เป็นของต่างหน้าของท่านแม่ ตุ๊กตาไล่ฝนตัวนั้นห้อยโหนท้าทายแสงแดด สายฝน ลมหนาว คล้ายกับแม่ผู้ทำหน้าที่ปกป้องลูกอยู่ตลอดเวลา

        ตุ๊กตาไล่ฝน เป็นตุ๊กตาขนาดเล็กที่ชาวญี่ปุ่นนิยมแขวนไว้ที่หน้าบ้านเวลาที่ต้องการให้ อากาศแจ่มใส ลักษณะของตุ๊กตาไล่ฝนเป็นตุ๊กตาผ้าสีขาว หัวกลมและมีการเขียนหน้าตา ภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า เทรุเทรุโบซุ (teriteribouzu) คำว่า เทะรุ ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า แดดออก และ เทรุเทรุ แปลว่า ส่องแสง ส่องสว่างก็ได้ (to shine) หรือจะแปลว่า อากาศที่ดี ( fine weather) ก็พอได้ ส่วน โบซุ แปลว่า เด็กหัวล้าน เด็กหัวโล้น หรือจะหมายถึง พระ ในพุทธศาสนาที่ต้องโกนหัวก็ได้

        อนึ่ง ขนบธรรมเนียนนี้เริ่มขึ้นในสมัยเอโดะ ย้อนไปราวปีค.ศ. 1600-1867 เชื่อว่าน่าจะเป็นการดัดแปลงมาจากตุ๊กตาเส่าฉินเหนียงของจีน ที่ทำขึ้นเพื่อขอพรให้อากาศแจ่มใสเช่นกัน ปัจจุบันยังมีการแขวนตุ๊กตาไล่ฝนกันในญี่ปุ่น โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กๆ เด็กชาวญี่ปุ่นจะทำตุ๊กตาเทะรุเทะรุโบโซะแขวนไว้ตรงหน้าต่างหรือระเบียงบ้าน เพื่อขอพรไม่ให้ ฝนตก ตามโรงเรียนก็จะมีการสอนเด็กๆให้ทำตุ๊กตานี้ เด็กๆส่วนใหญ่ มักจะทำตุ๊กตาตัวนี้ขึ้นก่อนวันที่จะไปทัศนศึกษา หรือวันกีฬาสี เพื่อให้อากาศแจ่มใส จะได้ไปเที่ยวหรือเล่นกีฬากันอย่างสนุก

        ทั้งนี้ หากสมปรารถนาแล้ว ยังมีธรรมเนียมการของคุณตุ๊กตาด้วย โดยหากสมหวังกับการขอให้ฝนหยุดตก ชาวญี่ปุ่นจะเอากระดิ่งเงินมาแขวนคอให้ตุ๊กตาเทะรุเทะรุโบโซะเพื่อเป็นการ ขอบคุณ หรือไม่ก็จะขอบคุณโดยการเทเหล้าบนหัวของเทะรุเทะรุโบโซะแล้วเอาไปโยนลงในแม่น้ำ

        กระนั้น ในบางโอกาสถ้าหากต้องการให้ฝนตก เด็กญี่ปุ่นจะแขวนเจ้าเทะรุเทะรุโบโซะให้คว่ำหัวลง คล้ายๆกับการทำย้อนศรเพื่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม ฉากนี้ผมเห็นในหนังญี่ปุ่นเรื่อง Be With You หนูน้อยรู้ว่าแม่จะอยู่ด้วยแค่ช่วงฤดูฝนจึงเอาตุ๊กตาไล่ฝนมาแขวนควํ่าหัวลง ที่ระเบียง ขณะที่ชาวนาญี่ปุ่นใช้วิธีทาสีดำที่หัวของเทรุเทรุโบโซะ เพื่อเป็นการขอฝนมาทำไร่ทำนา

        แม้ว่าไอ้เจ้าตุ๊กตา เทรุเทรุโบซุ ตัวเล็กจะไม่สามารถหยุดยั้งสายฝนจากท้องฟ้าผืนใหญ่ได้ แต่อย่างน้อยการมีมันอยู่ข้างหน้าต่างหรือริมระเบียงก็อาจทำให้หน้าฝนของคุณ ดูรื่นรมย์ขึ้นก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อหันไปเห็นรอยยิ้มน้อยๆของมัน

        ว่าแล้วก็ทำตุ๊กตาไล่ฝนน่ารัก แขวนไว้ที่หน้าต่างกันดีกว่า ส่วนวิธีทำตุ๊กตาไล่ฝน ก็สามารถทำได้แบบง่ายๆ...^_^
        Step1...เตรียมอุปกรณ์ ค่า มีลูกปิงปองหรืออะไรก็ได้ที่ดูกลมๆหน่อย เอานุ่นยัดก็โอเคนะ ปากกาเมจิก ผ้าขนาดสี่เหลี่ยมจตุรัส 1 ผืน และเชือก 1 เส้นค่ะ
        Step2...เอาลูกปิงปองวางไว้กลางผ้าแล้วรวบ
        Step3...พอรวบแล้วก็เอาเชือกมัดให้แน่น
       Step4...วาดหน้าตาลงไป
เท่านี้ก็เสร็จแล้ว^_^ เอาไปแขวนกันได้เลย!!


ที่มา : voicetv
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต